คดีขึ้นสู่ศาลฎีกาเฉพาะจำเลยที่ ๑ และ ๕ ในปัญหาข้อ ก.ม. ว่า ๑. คดีความผิดต่อแผ่นดินโจทก์จะถอนฟ้องเมื่อหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วได้หรือไม่ ๒. เมื่อโจทก์ถอนฟ้องชั้นอุทธรณ์แล้วสภาพเป็นโจทก์จำเลยย่อมระงับไป ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลย ๓. โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑,๕ สมคบกันปลอมหนังสือสัญญาซื้อขายแล้วนำมาเป็นพยานในคดีที่จำเลยที่ ๑ ร้องขัดทรัพย์โจทก์ในคดีแพ่งของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแดงที่ ๖๗๕/๒๔๙๔ และสมคบกันเบิกความเท็จต่อศาลขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าความผิดฐานปลอมหนังสือโจทก์สืบไม่ได้ คงพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ก.ม.อาญา ม.๑๕๕ จำคุกคนละ ๓ เดือน
จำเลยอุทธรณ์ โจทก์ขอถอนฟ้องในชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยทั้งสอง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ขอถอนฟ้องไม่ได้และฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำผิดจริง พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อศาลลงโทษจำเลยในคดีอาญาแผ่นดินซึ่งถือว่าเจ้าทุกข์เป็นโจทก์ฟ้องร้องแทนแผ่นดิน โจทก์จะขอถอนฟ้องในชั้นอุทธรณ์ไม่ได้ ฉนั้นฎีกาข้อ ก.ม.ข้อ ๒. ของจำเลยก็ไม่จำต้องวินิจฉัย ส่วนข้อที่ว่าโจทก์ไม่เสียหายเพราะในสำนวนร้องขัดทรัพย์ ศาลไม่เชื่อถ้อยคำจำเลยจึงพิพากษาให้ผู้ร้องแพ้คดีโจทก์นั้น เห็นว่าไม่ว่าโจทก์จะชนะหรือแพ้คดีก็ตามโจทก์ย่อมเสียหายอยู่ชัด ๆ จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ศาลฎีกาพิพากษายืน