โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าภาษีอากรพร้อมเงินเพิ่มภาษีอากร 48,161,782.98 บาท และชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนจากอากรขาเข้าที่ชำระขาดแต่ละใบขนสินค้าขาเข้ารวม 9,921,918 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระภาษีอากรพร้อมเงินเพิ่มภาษีอากร 48,161,782.98 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนจากอากรขาเข้าที่ชำระขาดแต่ละฉบับรวม 9,921,918 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ (ที่ถูกคือ โจทก์ทั้งสอง) โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2550 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2551 จำเลยนำสินค้าส่วนประกอบเครื่องจักร ชุดเครื่องลำเลียงพร้อมอะไหล่ เครื่องบดผสมตะกั่ว เครื่องทดสอบแบตเตอรี่ อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่และอื่น ๆ เข้ามาในราชอาณาจักรรวม 12 ครั้ง จำเลยชำระภาษีอากรตามที่สำแดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 และได้รับการตรวจปล่อยสินค้าไป ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เข้าตรวจค้นที่ทำการของจำเลยยึดเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าของจำเลยตามที่ยื่นใบขนสินค้าขาเข้า ฯ ในช่วงเวลาปี 2550 ถึง 2553 รวม 135 ฉบับไปตรวจสอบ ซึ่งมีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้า ฯ พิพาท 12 ฉบับในคดีนี้ และแจ้งผลการตรวจสอบว่า จำเลยสำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าราคาซื้อขายจริงเป็นเหตุให้อากรขาด จำเลยอ้างว่า เป็นการกระทำของนิติบุคคลที่จำเลยมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินพิธีการทางศุลกากร พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 แจ้งการประเมินให้จำเลยชำระอากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มอากรขาเข้า และเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม รวม 40,615,762.93 บาท จำเลยไม่ได้อุทธรณ์การประเมิน ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 แจ้งการประเมินครั้งที่ 2 เรียกเก็บเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลย จำเลยไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีของโจทก์ทั้งสองจึงอุทธรณ์การประเมินทั้งสองครั้ง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นเรื่องเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 เป็นอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ในการพิจารณา และการประเมินครั้งแรกจำเลยไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ไม่รับวินิจฉัย จึงมีมติให้จำหน่ายอุทธรณ์ของจำเลย โดยจำเลยได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ส่วนคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 เห็นว่า การประเมินครั้งแรกยุติแล้วเพราะจำเลยไม่ได้อุทธรณ์การประเมิน คงพิจารณาแต่เฉพาะการประเมินครั้งที่ 2 และมีมติให้ปลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามการประเมินครั้งที่ 2 จำเลยได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ภาษีอากรตามการประเมิน เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ภาษีอากรแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องคดีได้ทันทีเนื่องจากเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 (2) โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง การที่จำเลยไม่อุทธรณ์การประเมินจึงเป็นหนี้ที่แน่นอนและเป็นยุตินับแต่พ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์ของจำเลยตามกฎหมาย หาใช่เป็นหนี้ที่ไม่แน่นอนดังที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยไม่ การฟ้องคดีของจำเลยที่ขอให้ศาลภาษีอากรกลางเพิกถอนการประเมินภาษีเดียวกันนี้ไม่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลง หากต้องรอผลการพิจารณาคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแล้ว คดีของโจทก์ทั้งสองจะขาดอายุความ การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเป็นการพิพากษานอกประเด็น โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ต่อศาลภาษีอากรกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ภ.234/2560 ก่อนที่จำเลยจะฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีหมายเลขดำที่ ภ.2/2561 ไม่มีเหตุสมควรที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะยกปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงไม่ชอบ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ฉ บัญญัติให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน และมาตรา 112 อัฏฐารส บัญญัติให้ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยฟ้องเป็นคดีต่อศาลภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ส่วนประมวลรัษฎากร มาตรา 88/5 บัญญัติให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินตามบทบัญญัติในส่วน 2 ของหมวด 2 ลักษณะ 2 คือ อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (1) เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้วมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (2) เว้นแต่จะเป็นกรณีต้องห้ามอุทธรณ์ ดังนั้น หากผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งออกไม่พอใจการประเมิน กฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ตรวจคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินว่าชอบด้วยกฎหมายประการใด โดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจเปลี่ยนแปลง แก้ไข คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินได้ตามที่เห็นสมควร และหากผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สามารถอุทธรณ์โดยฟ้องคดีต่อศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับผู้อุทธรณ์ที่จะนำคดีมาฟ้องศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์แล้ว ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 (1) และมาตรา 8 แต่ในส่วนของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ภาษีอากร หากโจทก์ทั้งสองเห็นว่า โจทก์ทั้งสองได้แจ้งการประเมินภาษีอากรแก่จำเลยโดยชอบแล้ว จำเลยไม่ได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวภายในกำหนดตามกฎหมายจึงเป็นหนี้ภาษีอากรเด็ดขาด โจทก์ทั้งสองย่อมใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรให้จำเลยชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวได้ คดีนี้แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าจำเลยอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรที่พิพาทในคดีนี้เกินกำหนดตามกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าจำเลยได้อุทธรณ์การประเมินภาษีอากรภายในกำหนดตามกฎหมายหรือไม่ หากรับฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้อุทธรณ์การประเมินภาษีอากรภายในกำหนดตามกฎหมายดังที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ภาษีอากรค้างได้ แต่หากรับฟังได้ว่าจำเลยได้อุทธรณ์การประเมินภาษีอากรภายในกำหนดตามกฎหมายแล้ว ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยอ้างเหตุไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดตามกฎหมายนั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลย่อมต้องพิพากษายกฟ้องเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดเสียก่อน การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษยังไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยได้อุทธรณ์การประเมินภาษีอากรที่พิพาทในคดีนี้ภายในกำหนดตามกฎหมายหรือไม่ แต่กลับวินิจฉัยไปเลยว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว เพื่อความรวดเร็ว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยก่อน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรเกินกำหนดตามกฎหมายหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดชำระค่าภาษีอากรต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสองในคดีนี้เป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ ภ.2/2561 หมายเลขแดงที่ ภ.192/2561 ของศาลภาษีอากรกลางขอให้เพิกถอนการประเมินอากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และเงินเพิ่มตามใบขนสินค้าขาเข้า 135 ฉบับ ซึ่งมีใบขนสินค้าขาเข้า 12 ฉบับในคดีนี้รวมอยู่ด้วย กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยอ้างเหตุยื่นเกินกำหนดตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืนตามศาลภาษีอากรกลางให้ยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรเกินกำหนดตามกฎหมาย จำเลยในคดีนี้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา และศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีคำสั่งที่ ครพ.ภษ.11897/2563 ไม่รับคำร้องและไม่รับฎีกาของจำเลย คดีดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษและผูกพันโจทก์ทั้งสองและจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 26 ดังนั้น จึงต้องรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษว่าจำเลยอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรเกินกำหนดตามกฎหมาย และจำเลยไม่อาจยกข้อต่อสู้ว่า การประเมินเกินระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดและการประเมินรวมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง พ.ศ. 2539 ขึ้นต่อสู้ได้ จำเลยจึงต้องรับผิดตามการประเมิน อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนจากอากรขาเข้าที่ชำระขาดแต่ละฉบับจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เห็นว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ต้องรับผิดนั้น เมื่อคดีนี้จำเลยนำเข้าสินค้าระหว่างเดือนธันวาคม 2550 ถึงเดือนตุลาคม 2551 ความรับผิดอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ โดยตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 112 จัตวา บัญญัติว่า "เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออก จนถึงวันที่นำเงินมาชำระ..." ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าเงินเพิ่มอากรขาเข้าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนี้ เมื่อจำเลยชำระอากรขาเข้าไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้ตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม แม้ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จะได้มีพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 22 บัญญัติว่า "...โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม..." ก็คงเป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าเฉพาะส่วนที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับแล้วได้อีกต่อไปเท่านั้น แต่มิได้เป็นการลบล้างเงินเพิ่มอากรขาเข้าที่เกิดความรับผิดขึ้นแล้วตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าส่วนที่เกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนเงินเพิ่มอากรขาเข้าที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 โจทก์ที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิคำนวณเรียกเก็บดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ดังกล่าว ซึ่งตามรายละเอียดการคำนวณค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 20 ปรากฏว่า นับถึงวันฟ้องคือ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 โจทก์ที่ 1 คำนวณเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าแต่ละฉบับเกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียเพิ่มแล้ว โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิคำนวณเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้ต่อไปจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายเดิมมีผลใช้บังคับเท่านั้น ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 26 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากอากรขาเข้าที่ชำระขาดแต่ละฉบับจนกว่าจะชำระเสร็จมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับเป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ยกเว้นในส่วนเงินเพิ่มอากรขาเข้าให้จำเลยรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าแก่โจทก์ที่ 1 จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ