โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่2646 และ 2650 เนื้อที่ดิน 398 ตารางวา และ 44 ตารางวา ตามลำดับเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2525 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนเพื่อใช้สร้างทางพิเศษดาวคะนอง - ท่าเรือที่ดินทั้งสองโฉนดของโจทก์ดังกล่าวถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้และจำเลยเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์และตีราคาที่ดินโจทก์ เพื่อใช้ค่าทดแทนโดยไม่เป็นธรรมเพราะไม่คำนวณจากราคาที่ดินที่ซื้อขายกันในท้องตลาด โจทก์ได้โต้แย้งไว้ จำเลยนำเงินค่าทดแทนที่ดินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง และโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินแล้วแต่โต้แย้งว่าราคาต่ำไปขอให้จำเลยชดใช้เงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้แก่โจทก์เป็นเงิน1,926,950 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์เรียกร้องค่าทดแทนที่ดินในราคาสูงกว่าราคาที่แท้จริงไปมาก ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนเป็นเงิน 1,051,350 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 2646 ของโจทก์ ให้โจทก์อีกเป็นเงินจำนวน 159,200 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนอยู่ในเขตศาลแพ่งธนบุรี จำเลยมีหน้าที่ต้องกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ ข้อโต้เถียงกันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ว่าการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของจำเลยที่จะต้องชดใช้ให้แก่ โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มูลกรณีเนื่องมาจากการที่ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนมูลแห่งคดีนี้จึงเกิดขึ้นในเขตศาลแพ่งธนบุรี เมื่อโจทก์ขออนุญาตฟ้องและศาลแพ่งธนบุรีอนุญาตให้โจทก์ฟ้องที่ศาลแพ่งธนบุรีแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ที่ศาลแพ่งธนบุรีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) ปัญหาต่อไปที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เกี่ยวกับเงินค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 23 วรรคสุดท้าย มีใจความว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางพิเศษ ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยทางหลวง ในส่วนที่ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงนั้นมาใช้บังคับโดยอนุโลม และประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่28 พฤศจิกายน 2515 บัญญัติเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงไว้ในข้อ 76 ว่า "เงินทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้ว ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้ (1)ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น ฯลฯ" ที่จำเลยฎีกาว่าการที่จำเลยคิดคำนวณจ่ายค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์โดยใช้หลักเกณฑ์ว่า ให้ถือตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นการกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกต้องเป็นธรรมแก่โจทก์ตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2650 จำนวน 44 ตารางวาของโจทก์นั้น ที่ดินถูกเวนคืนเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2525 แต่ในวันที่ 30 มิถุนายน 2523ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4420 ซึ่งอยู่ติดถนนสุขสวัสดิ์เช่นเดียวกับที่ดินของโจทก์อยู่ห่างกันประมาณ 400เมตรในราคาตารางวาละ 15,000 บาท ตามสัญญาซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.28 และในวันที่ 9 กรกฎาคม 2524 ธนาคารกสิกรไทยได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3035 ซึ่งอยู่ติดถนนสุขสวัสดิ์เลยที่ดินที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซื้ออยู่ห่างจากที่ดินของโจทก์ประมาณ 800 เมตรในราคาตารางวาละ 35,000 บาท ตามสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการธนาคารกสิกรไทยเอกสารหมาย จ.35 ซึ่งต่อมาธนาคารทั้งสองแห่งได้ปลูกสร้างอาคารสำนักงานสาขา ในที่ดินทั้งสองแห่งนี้แล้วจะเห็นได้ว่าธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซื้อที่ดินก่อนที่ดินโจทก์ถูกเวนคืนประมาณ 2 ปี ยังซื้อในราคาตารางวาละ 15,000 บาท ทั้งแปลงตามปกติราคาที่ดินย่อมสูงขึ้นทั้งนี้เห็นได้จากการที่ธนาคารกสิกรไทยซื้อที่ดินที่ติดถนนเดียวกันอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซื้อเพื่อวัตถุประสงค์อันเดียวกันในราคาตารางวาละ35,000 บาท ทั้งแปลงในระยะห่างกันประมาณ 1 ปีเท่านั้น โดยซื้อในราคาแพงกว่ากันตารางวาละ 20,000 บาท ซึ่งตรงกับนายเอก บุญเกิดอดีตเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครพยานจำเลยที่เบิกความว่าถนนสุขสวัสดิ์ซึ่งที่ดินของโจทก์ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด และของธนาคารกสิกรไทยตั้งอยู่นั้น กรมที่ดินไม่ได้แบ่งช่วงที่ดินตลอดสายว่าช่วงไหนราคาแตกต่างกันอย่างไร คงกำหนดเท่ากัน เพราะความเจริญมีไม่ถึงขนาดที่จะต้องแบ่งช่วง แสดงให้เห็นว่าราคาที่ดินที่ติดถนนสุขสวัสดิ์ตลอดทั้งสายนั้นมีราคาเดียวกันหรือราคาใกล้เคียงกันนั่นเอง ที่ดินของโจทก์กับที่ดินของธนาคารกรุงเทพ จำกัด และธนาคารกสิกรไทยซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนสุขสวัสดิ์ จึงมีราคาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ธนาคารกสิกรไทยซื้อที่ดินมาก่อนที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนประมาณ 1 ปีมีราคาตารางวาละ 35,000 บาท ราคาที่ดินของโจทก์ขณะถูกเวนคืนจึงน่าจะมากกว่าตารางวาละ 35,000 บาท แม้จะได้ความจากนายเอกพยานจำเลยและนายนิคม คำนวณมาสก พยานโจทก์ว่าหากธนาคารซื้อที่ดินเพื่อสร้างสำนักงานสาขาเป็นการซื้อเฉพาะเจาะจงและต้องรีบซื้อเพราะธนาคารมีเวลาจำกัดเพียง 1 ปีในการจัดตั้งสำนักงานสาขาตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ตาม ราคาที่ธนาคารซื้อก็ไม่น่าจะมีราคาเพิ่มมากมายเกือบเท่าตัวภายในระยะเวลาเพียง1 ปีดังเช่นกรณีของธนาคารกรุงเทพ จำกัด กับธนาคารกสิกรไทย ราคาที่ดินที่ธนาคารกสิกรไทยซื้อตารางวาละ 35,000 บาท นั้นน่าจะเป็นราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดหรือใกล้เคียงกัน ดังนั้น ที่โจทก์ขอมาตารางวาละ15,000 บาท และศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้ตามขอนั้น จึงชอบด้วยกฎหมายและความเป็นธรรมแล้ว จำเลยจะถือเอาราคาประเมินของเจ้าพนักงานเพื่อใช้เป็นทุนสำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในขณะที่ที่ดินถูกเวนคืนไม่ได้เพราะเป็นราคาที่ต่ำมากฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2646 จำนวนเนื้อที่ 398 ตารางวา ของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสำเนาแผนที่แสดงที่ดินที่ถูกเวนคืนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.2ที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 2364 และ 24874 ของนางวัลลีย์ ซึ่งถูกเวนคืนเช่นเดียวกับที่ดินของโจทก์ นางวัลลีย์ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงนี้มาเมื่อวันที่ 2 กรกฏาคม 2524 ในราคาตารางวาละ 2,800 บาท จำเลยได้จ่ายค่าทดแทนที่ดินให้นางวัลลีย์ในราคาที่นางวัลลีย์ซื้อมาดังกล่าว ดังปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.18 ถึง จ.21ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2525 เป็นเวลาหลังจากที่นางวัลลีย์ซื้อ 10 เดือน ทั้งที่ดินของโจทก์อยู่ใกล้ถนนสุขสวัสดิ์กว่าที่ดินของนางวัลลีย์อยู่ติดกับถนนซอยด้านหน้าออกไปถนนสุขสวัสดิ์และด้านหลังออกไปยังซอยสายสำรวจ ซึ่งสามารถออกไปทางถนนประชาอุทิศได้ ส่วนที่ดินของนางวัลลีย์ไม่สามารถออกไปทางถนนดังกล่าวมาได้ที่ดินของโจทก์ย่อมมีราคาสูงกว่าราคาที่ดินของนางวัลลีย์ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ตารางวาละ3,200 บาท ทั้งแปลงนั้นน่าจะเป็นราคาธรรมดาของราคาที่ดินที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในขณะที่ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนแล้ว ที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์เป็น 2 ราคา คือตารางวาละ 900 บาทและ 650 บาท นั้นจึงไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ที่จำเลยฎีกาว่าการที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์นับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม2525 เป็นการไม่ถูกต้องนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 24 มีความว่า ในกรณีที่มีการออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเงินเพิ่มขึ้น ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทำขวัญมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินนั้น ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ใช้บังคับ และข้อ 26 มีความว่า ในกรณีที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ที่คิดว่าจะเวนคืน การชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของ ผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่นในอสังหาริมทรัพย์ให้นำข้อ 24 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้เป็นกรณีที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ที่คิดว่าจะเวนคืน หากศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเงินเพิ่มขึ้นโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินนั้นตั้งแต่วันที่ 2พฤษภาคม 2525 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ที่คิดว่าจะเวนคืนใช้บังคับทั้งนี้โดยอนุโลมตามข้อ 24 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวซึ่งต้องถือว่าโจทก์ทราบแล้วก่อนฟ้อง ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิ่มขึ้นนั้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.