โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 โดยจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ. 2517 มีวัตถุประสงค์ดำเนินการพยุงราคาผลิตผลเกษตรกรรม เมื่อวันที่1 มกราคม 2523 โจทก์ได้เช่าฉางจากจำเลยเพื่อฝากเก็บข้าวเปลือกพยุงราคาปี 2522/2523 มีกำหนด 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่24 กุมภาพันธ์ 2523 ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2524 โจทก์ได้นำข้าวเปลือกเข้าเก็บในฉางรวม 1,637,129 กิโลกรัม แล้วนำออกจากฉางไปเพียง 1,524,225 กิโลกรัม เมื่อหักน้ำหนักข้าวยุบตัวร้อยละ 2 ของน้ำหนักข้าวทั้งหมดจำนวน 32,742.58 กิโลกรัม ออกตามสัญญาแล้วจะต้องเหลือข้าวเปลือกของโจทก์อยู่อีก 80,161.42 กิโลกรัมแต่ปรากฎว่า ข้าวเปลือกจำนวนดังกล่าวขาดหายไปจากฉาง คิดเป็นเงิน230,689.06 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ตามสัญญาแต่จำเลยมีสิทธิได้รับค่าเช่าฉางและค่ากรรมกรขนข้าวเปลือกจากโจทก์จำนวน 92,100.80 บาท หักภาษี ณ ที่จ่ายเสีย 921.01 บาท คงเหลือ91,179.79 บาท เมื่อหักทอนกันแล้วจำเลยจึงต้องชำระเงินให้โจทก์ 139,509.27 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2524 อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญา เฉพาะดอกเบี้ยถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 98,528.41 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 238,037.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในเงินต้น 139,509.27 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ร้อยตรีประจวบ บุรพรัตน์ ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ เรืออากาศเอกประทีป จันทรยุคล ไม่มีอำนาจเรียงคำฟ้องและลงชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์ โจทก์ไม่มีหลักฐานการเช่าฉางเป็นหนังสือไม่อาจฟ้องให้จำเลยรับผิดได้ หากจำเลยจะต้องรับผิดเพราะมีข้าวเปลือกขาดหายไปก็คิดเป็นเงินไม่เกิน 91,179.79 บาท เมื่อหักกับเงินค่าเช่าฉางและค่ากรรมกรขนข้าวเปลือกที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากโจทก์แล้ว จึงไม่มีหนี้สินที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้โจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพราะจำเลยไม่เคยผิดนัด ดอกเบี้ยจำนวนที่โจทก์ฟ้องเป็นดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี และโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือขอให้ใช้ราคาทรัพย์และค่าเสียหายเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่ส่งมอบคดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 139,509.27 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 1528 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่จำเลยฎีกาว่าเรืออากาศเอกประทีป จันทรยุคล ลงชื่อเป็นผู้เรียงคำฟ้องโดยไม่ได้ระบุว่าเป็นทนายความหรือพนักงานอัยการ หรือผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ จึงเท่ากับว่าเรืออากาศเอกประทีปลงชื่อเป็นผู้เรียงคำฟ้องในฐานะส่วนตัว อันเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบ นั้นเห็นว่าเรืออากาศเอกประทีปเป็นพนักงานอัยการ มีอำนาจที่จะรับว่าต่างคดีนี้ให้โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาได้ตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11(5) และเรืออากาศเอกประทีปได้รับเป็นทนายความว่าต่างให้โจทก์แล้วตามใบแต่งทนายความลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2533 ในสำนวนคดีเรืออากาศเอกประทีปจึงมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ รวมทั้งการเรียงคำฟ้องแทนโจทก์ได้ แม้เรืออากาศเอกประทีปจะลงชื่อเป็นผู้เรียงคำฟ้องโดยไม่ได้ระบุว่าเป็นทนายความหรือพนักงานอัยการ ก็เห็นได้ว่าเป็นทนายความว่าต่างให้โจทก์ตามใบแต่งทนายความดังกล่าว โดยไม่จำต้องระบุถึงฐานะเช่นนั้นในช่องผู้เรียงคำฟ้องอีก คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิได้รับเงินเช่าฉางและค่ากรรมกรขนข้าวเปลือกรวมจำนวน 232,500 บาท จากโจทก์ มิใช่เพียงจำนวน 91,179.39 บาท นั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อคดีมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 นั้น เห็นว่า จำเลยให้การว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือขอให้ใช้ราคาทรัพย์และค่าเสียหายเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่ส่งมอบ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามิใช่เป็นการอ้างอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 ที่บัญญัติว่าในข้อความรับผิดเพื่อใช้เงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์ก็ดี ชดใช้เงินค่าใช้จ่ายก็ดี ใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ก็ดีท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย"
พิพากษายืน