โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8, 14 วรรคสอง และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงินให้แก่โจทก์ 705,200 บาท
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีโจทก์มีมูลเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 ตามฟ้องโจทก์เท่านั้น จึงให้ประทับฟ้องเฉพาะข้อหาดังกล่าว ไว้พิจารณา ส่วนข้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 และมาตรา 12 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 14 วรรคสอง) ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ไม่รับฟ้องคดีส่วนแพ่ง คืนค่าขึ้นศาลชั้นต้นทั้งหมดให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นทั้งสองศาลให้เป็นพับ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะดำเนินคดีในศาลที่มีอำนาจ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ฟ้องโจทก์ข้อ 2 มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสี่ได้กระทำผิดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เพียงแต่บรรยายว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้อง ข้อ 1.1 ถึง 1.4 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงินเพียงใดเท่านั้น เมื่อฟ้องโจทก์ข้อ 2 ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่จะแสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ฐานร่วมกันโดยทุจริต หรือหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 ฟ้องโจทก์ข้อ 2 จึงเป็นการบรรยายถึงค่าเสียหายที่เกิดจากการกระทำตามฟ้องข้อ 1.1 ถึง 1.4 อันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของฟ้องข้อ 1.1 ถึง 1.4 เท่านั้น และไม่อาจแบ่งแยกข้อหาดังกล่าวออกมาได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวง โดยบรรยายข้อเท็จจริง และรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาที่เกิดเหตุตามฟ้อง ข้อ 1.1 ถึง 1.4 ว่า เหตุเกิดเมื่อระหว่างวันที่ 16 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 และบรรยายฟ้องการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดในทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง และร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแอปพลิเคชันไลน์สาธารณะซึ่งประชาชนทั่วไป และโจทก์สามารถเข้าถึงได้ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ผู้อื่น และประชาชน กับมีคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8, 14 วรรคสอง ดังนี้ แม้ฟ้องโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว อันเป็นบทหนักที่บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษสูงขึ้น และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 ที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ยังคงบัญญัติว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอยู่ โดยบทบัญญัติตามมาตรา 14 (1) และมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันเกินอำนาจศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ก็ตาม แต่การที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว และระบุขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 และมาตรา 14 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทเบา มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งยังเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะกระทำความผิดด้วย และฟ้องโจทก์ก็ระบุข้อหาหรือฐานความผิดว่า ร่วมกันฉ้อโกงและโดยทุจริตหรือหลอกลวงร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น โดยมิได้มีคำขอให้ลงโทษตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นบทหนักที่บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษสูงขึ้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า โจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในข้อหาฉ้อโกง และความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 เท่านั้น ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่บัญญัติห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดั่งที่กล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏในทางพิจารณา ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้น ๆ เช่นนี้ หากทางพิจารณาจะได้ความตามฟ้อง ศาลย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 และต้องถือว่า โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว และมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 ดังนั้น จึงไม่อาจถือว่าโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษบทหนักตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย เมื่อความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และความผิดฐานโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือผู้อื่น อันมิใช่ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงอยู่ในอำนาจที่ศาลชั้นต้นที่เป็นศาลแขวงจะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ความผิดตามบทกฎหมายที่เบากว่าจะอยู่ในอำนาจศาลแขวง แต่เมื่อความผิดตามบทหนักเกินอำนาจศาลแขวงแล้ว ต้องถือว่าคดีนี้เป็นคดีเกินอำนาจศาลแขวง ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ และพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ไม่รับฟ้องคดีส่วนแพ่งมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัยคดีโจทก์มีมูลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 หรือไม่ เพื่อให้คดีมีการตรวจสอบดุลพินิจเป็นไปตามลำดับชั้นศาล จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาดังกล่าวเสียก่อน
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของโจทก์ใหม่ตามรูปคดี