โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เรียงกระทงลงโทษ กระทงแรก (เช็คฉบับ33,000 บาท) จำคุก 3 เดือน กระทงที่สอง (เช็คฉบับ 80,000 บาท)จำคุก 6 เดือน รวมเป็นจำคุก 9 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าซึ่งเป็นเช็คพิพาทในคดีนี้ 2 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 24 มกราคม 2532จำนวนเงิน 80,000 บาท ฉบับที่สองลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532 จำนวนเงิน 33,000 บาท แล้วนำมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนด โจทก์ได้นำเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เห็นว่า แม้การกระทำของจำเลยตามฟ้องดังกล่าวจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3 แต่เนื่องจากในขณะคดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ออกมาใช้บังคับ ซึ่งตามพระราชบัญญัติฉบับหลังนี้ มาตรา 3 ได้บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฉบับแรกดังกล่าวและได้บัญญัติมาตรา 4 ไว้ว่า "ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นฯลฯ" ดังนั้นการออกเช็คที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 4 ดังกล่าวจะต้องปรากฏข้อเท็จจริงก่อนว่า ผู้ออกเช็คกับผู้รับเช็คมีหนี้ต่อกัน แล้วผู้ออกเช็คได้ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวให้ผู้รับเช็คส่วนการออกเช็คพิพาทเพื่อนำไปแลกเงินสดตามที่โจทก์ฟ้องย่อมเห็นได้ว่าในขณะที่จำเลยออกเช็คและนำไปแลกเงินสดจากโจทก์นั้น มีลักษณะเป็นเพียงจำเลยนำเช็คนั้นไปก่อหนี้ด้วยการแลกรับเอาเป็นเงินสดจากโจทก์ ไม่ใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่แล้วให้แก่โจทก์ การออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลัง จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสองศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน.