โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 144
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า วันที่ 29 เมษายน 2562 เวลาประมาณ 3 นาฬิกา ร้อยตำรวจเอกธนกร และสิบตำรวจตรีเกียรติศักดิ์ กับพวก เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกันจับกุมนายธีระพลหรือแนน และนายเกียรติศักดิ์หรือโอ ในความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และยึดใบพืชกระท่อมบรรจุในถุงพลาสติกสีดำจำนวน 7 ถุง เป็นของกลาง ส่วนจำเลยที่ 2 และนายโยธิน ผู้ร่วมกระทำความผิดหลบหนีไป บ้านที่เกิดเหตุ มีนางสาวรัตนพรหรือรัตนาพรหรือแหม่ม น้องจำเลยที่ 2 พักอาศัยอยู่กับบิดาและบุตร ต่อมาเวลา 6.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 เดินทางมาบ้านที่เกิดเหตุและถูกร้อยตำรวจเอกธนกรและสิบตำรวจตรีเกียรติศักดิ์กับพวกจับกุมพร้อมยึดเงินจำนวน 50,000 บาท เป็นของกลาง โดยกล่าวหาว่าร่วมกันให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการ หรือไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ไม่ยอมลงชื่อในบันทึกจับกุม ต่อมาวันที่ 11 พฤษภาคม 2562 จำเลยที่ 2 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ รถกระบะ ยี่ห้อมิตซูบิชิ มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครอง จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์เป็นสามีภริยากัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกับนางสาวรัตนพรหรือรัตนาพรหรือแหม่ม กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกธนกรและสิบตำรวจตรีเกียรติศักดิ์ เป็นเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติการไปตามหน้าที่ ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน ส่วนนางสาวรัตนพร เป็นน้องของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสอง นอกจากนี้ จำเลยทั้งสองยังเบิกความเจือสมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุมีสาระสำคัญตรงกับพยานโจทก์ดังกล่าว เพียงแต่ต่อสู้ว่าไม่มีส่วนร่วมในการให้สินบนแก่เจ้าพนักงานเท่านั้น จึงเชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสามเบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่พบประสบมา อย่างไรก็ดี ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าว ขณะที่มีการตกลงให้เงินจำนวน 50,000 บาท แก่ร้อยตำรวจเอกธนกรและเจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุม เป็นสินบน เพื่อจูงใจให้ร้อยตำรวจเอกธนกรกับเจ้าพนักงานผู้ร่วมจับกุมให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ โดยไม่ให้ติดตามจับกุมจำเลยที่ 2 และให้ปล่อยตัวนายธีระพลและนายเกียรติศักดิ์ และมิให้ยึดรถกระบะ ยี่ห้อมิตซูบิซิ ของจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 5 (พืชกระท่อม) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยไม่นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีนั้น มีเพียงนางสาวรัตนพรอยู่กับร้อยตำรวจเอกธนกร จำเลยทั้งสองมิได้อยู่ด้วยในขณะนั้น หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้เข้ามาเกี่ยวข้องโดยมาที่บ้านของนางสาวรัตนพรและถูกจับกุมพร้อมเงินจำนวน 50,000 บาท คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับนางสาวรัตนพรซึ่งให้การรับสารภาพและศาลพิพากษาลงโทษไปแล้วร่วมกันให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน โจทก์จึงต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีการกระทำหรือพฤติการณ์อย่างใดอันถือได้ว่าได้ร่วมกระทำความผิดดังกล่าว โดยในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นั้น เหตุที่มีการดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 เนื่องจากนางสาวรัตนพรได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังจำเลยที่ 1 ให้นำเงินจำนวน 50,000 บาท มาให้เจ้าพนักงานตำรวจที่บ้านของนางสาวรัตนพร ตามหลักฐานการใช้โทรศัพท์ติดต่อระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางสาวรัตนพรจำนวนหลายครั้ง แม้แต่ละครั้งจะใช้เวลาเพียง 5 ถึง 30 วินาที ก็หาใช่สาระสำคัญไม่ จากนั้นนางสาวรัตนพรบอกแก่ร้อยตำรวจเอกธนกรว่าจำเลยที่ 1 กำลังเดินทางจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อนำเงินมามอบให้ จนกระทั่งเวลาประมาณ 6 นาฬิกา จำเลยที่ 1 จึงนำเงินจำนวน 50,000 บาท มามอบให้แก่ร้อยตำรวจเอกธนกร เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้มาที่บ้านของนางสาวรัตนพรซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่นางสาวรัตนพรได้ตกลงที่จะให้เงินจำนวน 50,000 บาท เป็นสินบนแก่ร้อยตำรวจเอกธนกรแล้ว โดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ร่วมเสนอสินบนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจด้วย ซึ่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ย่อมเป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน แม้จะยังมิได้ส่งมอบทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานก็ตาม การที่นางสาวรัตนพรโทรศัพท์ติดต่อให้จำเลยที่ 1 นำเงินจำนวน 50,000 บาท มาให้เจ้าพนักงานตำรวจที่บ้านของนางสาวรัตนพรนั้น จำเลยที่ 1 เพิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเป็นผู้นำเงินสินบนมาที่บ้านเกิดเหตุหลังจากความผิดสำเร็จแล้ว จึงมิใช่เป็นการร่วมกระทำความผิดกับนางสาวรัตนพรในลักษณะของตัวการ ทั้งมิใช่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดจึงไม่เป็นผู้สนับสนุน อีกทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 มาถึงบ้านของนางสาวรัตนพรก็ถูกร้อยตำรวจเอกธนกรกับพวกจับกุมทันทีโดยไม่มีโอกาสที่จะพูดคุยกับร้อยตำรวจเอกธนกรหรือนางสาวรัตนพรถึงเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงไม่มีพฤติการณ์ใดที่จะบ่งชี้ว่าได้ร่วมกับนางสาวรัตนพรให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน แต่อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานตำรวจกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วยการปล่อยตัวนายธีระพลและนายเกียรติศักดิ์และมิให้ยึดรถกระบะ ยี่ห้อมิตซูบิชิ เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดแยกได้ต่างหากจากการกระทำความผิดของนางสาวรัตนพร ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต่างไปจากคำฟ้องที่ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกับนางสาวรัตนพรให้สินบนแก่เจ้าพนักงานก็ตาม แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานแล้ว เพราะการกระทำนั้นไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันกระทำหรือต่างกระทำความผิดเพียงลำพัง จำเลยแต่ละคนก็ย่อมถูกลงโทษ เป็นแต่จะลงโทษได้ตามคำขอของโจทก์หรือไม่เท่านั้น ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องที่แตกต่างจากข้อเท็จจริงในทางพิจารณาดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรสอง สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น มิได้ร่วมอยู่ในที่เกิดเหตุไม่ได้ร่วมเจรจาตกลงที่จะให้สินบนแก่ร้อยตำรวจเอกธนกรโดยตรง เหตุที่มีการดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 นั้น ร้อยตำรวจเอกธนกรเบิกความว่า ได้พูดคุยกับนางสาวรัตนพรซึ่งอยู่ภายในบ้าน นางสาวรัตนพรอ้างว่าจะโทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพี่ชายให้เข้ามอบตัว พร้อมพูดจาหว่านล้อมให้พยานรับเงินจากจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่ยอมมอบตัว พร้อมเสนอเงินให้เจ้าพนักงานตำรวจ จำนวน 50,000 บาท เพื่อแลกกับการไม่ให้จับกุมและให้ปล่อยรถยนต์ของกลาง กับมีนางสาวรัตนพรเบิกความว่า จำเลยที่ 2 ได้โทรศัพท์มาถามว่าเจ้าพนักงานตำรวจกลับหรือยัง นางสาวรัตนพรบอกว่ายังไม่กลับ จำเลยที่ 2 ให้นางสาวรัตนพรถามว่าเคลียร์ที่นี่จบไหม คำเบิกความของนางสาวรัตนพรในเรื่องนี้แม้ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการใช้โทรศัพท์ติดต่อกันระหว่างนางสาวรัตนพรกับจำเลยที่ 2 โดยการตรวจสอบการใช้โทรศัพท์พบเพียงว่ามีการติดต่อกันระหว่างนางสาวรัตนพรกับจำเลยที่ 1 เท่านั้น ก็เป็นเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้เครื่องโทรศัพท์ หาถึงกับรับฟังว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีข้อพิรุธไม่ อย่างไรก็ดี ลำพังแต่เพียงการสนทนากันทางโทรศัพท์ระหว่างนางสาวรัตนพรกับจำเลยที่ 2 ว่าให้นางสาวรัตนพรถามเจ้าพนักงานว่าเคลียร์ที่นี่จบไหม ทำนองจะให้สิบบนแก่เจ้าพนักงาน แต่ขณะนั้นยังมิได้มีการเสนอเรื่องดังกล่าวแก่ร้อยตำรวจเอกธนกร ยังมิได้มีการกระทำด้วยการขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่แต่อย่างใด การที่นางสาวรัตนพรไปเสนอแก่ร้อยตำรวจเอกธนกรว่าจะให้เงินจำนวน 50,000 บาท จบกันที่นี่ได้ไหม เป็นการกระทำโดยลำพังของนางสาวรัตนพรเอง ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 มีเพียงเท่านี้ รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 จำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์