โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 48, 69, 70, 73, 74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบไม้มะกอกของกลาง และจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และมีไม้อันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง แต่ปฏิเสธข้อหาร่วมกันรับไว้ด้วยประการใด ซึ่งไม้ที่รู้ว่าได้มาโดยการกระทำผิดดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก มาตรา 14), 31 วรรคสอง (2) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 69 วรรคสอง (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 5 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ประกอบกับการกระทำของจำเลยทั้งสามนับว่าเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งป่าไม้นับวันจะเหลือน้อยลงจึงไม่มีเหตุอันควรรอการลงโทษจำคุก ริบของกลาง ส่วนคำขอให้จ่ายสินบนนำจับนั้น เมื่อศาลลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามโดยไม่ลงโทษปรับจึงไม่อาจสั่งให้จ่ายสินบนนำจับได้ คำขอส่วนนี้จึงให้ยก และให้ยกฟ้องข้อหาร่วมกันรับไว้ด้วยประการใดซึ่งไม้ที่รู้ว่าได้มาโดยการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 70
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 69 วรรคสอง (2), 73 วรรคสอง (2) ความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า "เห็นสมควรวินิจฉัยในประการแรกก่อนว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองหรือไม่ ตามคำฟ้องโจทก์ข้อ 2 ข.ระบุว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันมีไม้มะกอกซึ่งยังมิได้แปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามฟ้องข้อ 1 และตามคำฟ้องข้อ 1 ระบุว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 กำหนดให้ไม้มะกอกในป่าทั่วราชอาณาจักรเป็นไม้หวงห้ามธรรมดาประเภท ก. ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ลำดับที่ 110 แต่ปรากฏว่าบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมิได้กำหนดให้ไม้มะกอกทุกชนิดในป่าเป็นไม้หวงห้ามแต่อย่างใด คงมีลำดับที่ 110 ที่กำหนดให้มะเกิ้ม มะเหลี่ยม มะกอกเหลี่ยม มะจิ้น มะกอกเลือด มะกอกเกลื้อน มะเลื่อมและมะกอกเลื่อม ซึ่งเป็นพรรณไม้สกุล Canarium เท่านั้นเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้มะกอกทั่วไปซึ่งมิใช่พรรณไม้ในสกุลดังกล่าว จึงมิใช่ไม้หวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 จำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองตามฟ้อง แม้จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ แต่เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
ที่จำเลยทั้งสามฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันทำไม้มะกอก โดยเลื่อยตัดฟันออกจากต้นแล้วเลื่อยเป็นท่อนภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย และไม้มะกอกของกลางที่เจ้าพนักงานยึดได้มีจำนวน 35 ท่อน ปริมาตรรวมทั้งสิ้น 6.93 ลูกบาศก์เมตรนั้น แม้จะมิใช่ไม้หวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันเข้าไปตัดฟันจนขาดออกจากต้น พฤติการณ์แห่งคดีนับได้ว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรง ทั้งการตัดไม้ทำลายป่านอกจากจะส่งผลเสียหายแก่ป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่ายิ่งต่อประเทศชาติแล้ว ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศน์ของป่าไม้และคุณภาพของสิ่งแวดล้อม ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษจำคุกจำเลยทั้งสามโดยไม่รอการลงโทษจำคุกให้นั้น เหมาะสมแก่ความผิดของจำเลยทั้งสามแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตหลังจากลดโทษให้แล้ว มีกำหนด 1 ปี 6 เดือนนั้นหนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานดังกล่าวเสียใหม่ เพื่อให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี ให้ยกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4