โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้จอบ ถาก ขุด ฟันต้นยูคาลิปตัสของนายสุทโท เรืองสุขสุด และนางพิกุล เรืองสุขสุด ผู้เสียหายจำนวน 500 ต้น และต้นยูคาลิปตัสของนางสยุมพร เจนรอบและนายประกวด เจนรอบ ผู้เสียหายจำนวน 500 ต้น แล้วนำไปเผาจนเสียหายใช้การไม่ได้ คิดเป็นค่าเสียหายรายละ 15,000 บาทขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 เป็นความผิดสองกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือนและปรับกระทงละ 2,000 บาท รวมสองกระทงเป็นจำคุก 4 เดือนและปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือนและปรับ 3,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ตามพยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบผู้เสียหายทั้งสองและจำเลยยังมีปัญหาโต้เถียงกันอยู่ว่า จำเลยได้ทำสัญญาขายที่ดินมี น.ส.3 ก. ของจำเลยแก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ 2 ไร่ในราคาไร่ละ 20,000 บาทตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 หรือไม่และเมื่อ น.ส.3 ก. ของจำเลยมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 5 ปี ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 การทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวจะทำให้ผู้เสียหายทั้งสองได้สิทธิครอบครองที่ดินหรือไม่ซึ่งผู้เสียหายทั้งสองได้ฟ้องบังคับจำเลยให้โอนที่ดินตามสัญญาแล้วคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลซึ่งเป็นข้อพิพาททางแพ่งไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายสุทโท เรืองสุขสุด และนางสยุมพร เจนรอบผู้เสียหายเบิกความว่าได้ปลูกต้นยูคาลิปตัสลงในที่ดินมี น.ส.3 ก.ที่ซื้อจากจำเลยเนื้อที่คนละ 2 ไร่ ประมาณ 800 ต้น ภายในเขตที่ดินที่ทำรั้วลวดหนามแสดงแนวเขตไว้โดยจ้างผู้มีชื่อหลายคนเป็นผู้ปลูกและดูแลรักษาจนต้นยูคาลิปตัสสูงท่วมศีรษะตามวันเวลาเกิดเหตุเสียหายทั้งสองเห็นจำเลยตัดและเผาต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกไว้จึงได้ไปแจ้งเหตุต่อนายนิยม สุขอุดม ผู้ใหญ่บ้าน และไปแจ้งความที่สถานีตำรวจจำเลยได้ตัดทำลายต้นยูคาลิปตัสของผู้เสียหายทั้งสองคนละประมาณ500 ต้น โดยโจทก์มีนายนิยมผู้ใหญ่บ้านมาเบิกความรับรองว่าผู้เสียหายทั้งสองซื้อที่ดินจากจำเลยและปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินระหว่างเกิดเหตุพยานเห็นจำเลยตัดต้นยูคาลิปตัสที่ผู้เสียหายปลูกไว้และมีนายดาว คงใจดี เจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดสุรินทร์สาขาประสาท มาเบิกความว่า จำเลยกับผู้เสียหายทั้งสองเคยมายื่นเรื่องราวขอแบ่งขายที่ดิน แต่ที่ดินติดเงื่อนไขห้ามโอนพยานจึงดำเนินการให้ไม่ได้ แต่พยานเคยไปปักหลักเขตที่มีการแบ่งขายให้ผู้เสียหายทั้งสองโดยมีผู้ใหญ่บ้านไปรับทราบด้วยตามที่คู่กรณีร้องขอ และจำเลยเบิกความรับว่า ผู้เสียหายทั้งสองได้ว่าจ้างคนงานหลายคนให้ปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินบางส่วนของจำเลยจริง แต่เมื่อจำเลยต้องการเข้าไปทำนาในที่ดินจำเลยจึงใช้จอบขุดต้นยูคาลิปตัสของผู้เสียหายออก เห็นว่าคดีนี้เป็นคดีอาญาแม้ผู้เสียหายทั้งสองกับจำเลยยังมีเรื่องโต้เถียงกันเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแต่ในชั้นนี้ยังไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์จะมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า ผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจ้าของต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท แต่จำเลยก็ไม่มีอำนาจที่จะทำลายทรัพย์ของผู้อื่นได้ หากจะถือว่าการปลูกต้นยูคาลิปตัสลงในที่ดินเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินของจำเลยในกรณีที่ต่างโต้เถียงสิทธิครอบครองกันเช่นนี้ต่างก็ต้องฟ้องเอาคืนการครอบครองเหตุว่าที่ดินยังมีอยู่ไม่สูญหายไปไหน ใครจะมีสิทธิในที่ดินจะต้องว่ากล่าวกันในทางศาลจำเลยเข้าตัด ฟัน ขุด และเผาต้นยูคาลิปตัสของผู้เสียหายเป็นการทำลายทรัพย์ของผู้เสียหาย จำเลยจึงต้องมีความผิดตามฟ้องคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาโจทก์ฟังขึ้น"
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น