โจทก์ฟ้องขอให้มีคำพิพากษาให้มติในการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 และการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2554 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2554 ไม่ชอบด้วยกฎหมายตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ และให้ใช้บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับเดิม คือฉบับลงวันที่ 23 ธันวาคม 2553 ให้จำนวนและอำนาจกรรมการชุดก่อนวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 มีผลบังคับและมีอำนาจต่อไป ให้จำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงจำนวนและอำนาจกรรมการต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครโดยให้กรรมการของจำเลยมี 3 คน คือ นายประชา นายไพบูลย์ และนายธีรยุทธ กรรมการหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทได้ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับลงวันที่ 23 ธันวาคม 2553 ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ว่า โจทก์ได้ใช้สิทธิขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2554 ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 และครั้งที่ 2/2554 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2554 ภายในระยะเวลาตามกฎหมายหรือไม่ การบอกกล่าวเรียกประชุม การประชุมและการลงมติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2554 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยมีเจตนาเรียกประชุมไม่สุจริตหรือไม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งว่า รอไว้วินิจฉัยในคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่ง ส่วนจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาคำพิพากษาและคำสั่ง
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยและเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลย ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2554 จำนวน 8,340,000 หุ้น โจทก์ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยระบุให้การลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2554 หลังจากนั้นจำเลยได้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2554 ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 ที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ แต่งตั้งประธานและรองประธานบริษัท แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารรวมทั้งกำหนดกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท ยกเลิกใบหุ้นเดิม ออกใบหุ้นใหม่และให้ตรวจสอบหุ้นที่ยังไม่ได้ชำระมูลค่าหุ้น ต่อมาจำเลยได้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2554 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2554 เพื่อรับรองรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2554 พิจารณาเพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิม 320,000,000 บาท เป็น 1,365,000,000 บาท และพิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลงหนังสือบริคณห์สนธิเรื่องจำนวนทุนจดทะเบียน ที่ประชุมมีมติตามวาระดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ขณะยื่นฟ้องโจทก์มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลย จำเลยจัดประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2554 ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 และครั้งที่ 2/2554 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2554 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัท แย่งสิทธิการถือหุ้นและอำนาจบริหารของโจทก์ไปโดยทุจริต จึงถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิและมีอำนาจที่จะฟ้องขอเพิกถอนการประชุมซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ถูกริบหุ้นจึงไม่มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งข้อเท็จจริงเกิดขึ้นภายหลังวันฟ้องขึ้นมาประกอบการวินิจฉัยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นไม่ชอบ เห็นว่า ขณะยื่นคำฟ้องโจทก์มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลย โดยยื่นฟ้องเพื่อขอให้เพิกถอนมติในการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2554 ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 และการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2554 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2554 ที่เปลี่ยนแปลงจำนวนและอำนาจกรรมการ เปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทและแก้ไขเปลี่ยนแปลงหนังสือบริคณห์สนธิเรื่องการเพิ่มทุนบริษัท โดยอ้างว่าจำเลยจัดประชุมเพื่อเพิ่มทุนจดทะเบียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แย่งสิทธิการถือหุ้นและอำนาจบริหารของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ แต่เมื่อระหว่างพิจารณาได้ความว่า จำเลยได้ริบหุ้นของโจทก์ทั้งหมดออกขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 เนื่องจากโจทก์ค้างชำระค่าหุ้น ต่อมาโจทก์ได้ขอรับเงินค่าหุ้นส่วนที่เหลือจากการขายทอดตลาดแล้ว และคดีอาญาซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยและกรรมการจำเลยว่าร่วมกันลักทรัพย์โดยการริบหุ้นของโจทก์ทั้งหมดและนำหุ้นดังกล่าวออกขายทอดตลาดและรับของโจร ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยและกรรมการจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจร โจทก์จึงไม่มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยอีกต่อไป ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยแล้วโดยหนังสือลาออกระบุให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2554 ก่อนที่จะมีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นตามฟ้อง จึงถือว่าโจทก์ไม่มีส่วนได้เสียโดยตรงที่จะยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นในคดีนี้อีกต่อไป อำนาจฟ้องของโจทก์จึงหมดลง นอกจากนี้ การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติในการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2554 ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 และการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2554 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2554 โดยขอให้จำเลยใช้บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับเดิมซึ่งส่งผลให้โจทก์กลับไปมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้น และขอให้ใช้จำนวนและอำนาจกรรมการชุดเดิมก่อนวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 มีผลบังคับและมีอำนาจต่อไป ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ปัจจุบันมีชื่อว่า บริษัท ท. แล้ว กรรมการจำเลยชุดเดิมซึ่งถูกแต่งตั้งตามมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 จึงหมดสภาพไปแล้วเนื่องจากจำเลยได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และได้มีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่แล้ว คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะบังคับคดีให้เป็นไปได้อีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้องได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาของโจทก์อีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ