โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
12,876.49 บาท ค่าชดเชย 203,313 บาท และค่าจ้างค้างจ่าย 1,017 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว
ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 1,000,000
บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว
และเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของจำนวนเงินค่าจ้าง ค่าชดเชย
และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 203,310 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 30
มกราคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 12,876.30 บาท
และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 420,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาและที่คู่ความไม่โต้แย้งกันได้ความว่า
โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งพนักงานขับรถยกตั้งแต่ปี
2538 จนกระทั่งวันที่ 19 ตุลาคม 2559
โจทก์ยกกล่องใส่เศษสะแคร็ปซึ่งด้านบนมีม้วนสายโทรศัพท์วางอยู่ออกไปจากพื้นที่โรงปอกแผนกสะแคร็ปและนำไปวางไว้ในพื้นที่ซึ่งติดกันกับพื้นที่ที่วางสะแคร็ปรอการขาย
ต่อมาจำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 โจทก์ให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนว่าไม่มีใครสั่งให้ยกกล่องใส่สะแคร็ปที่มีม้วนสายโทรศัพท์วางอยู่บนกล่องออกไป
ต่อมาจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์ วันที่ 23
พฤศจิกายน 2559 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน
2559 อ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรงและเป็นการส่อไปในทางทุจริต
การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควร
โดยศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยแล้วเห็นว่า
อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าการเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยมีเหตุอันสมควร
ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นั้น ล้วนแต่เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย
อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา
54 วรรคหนึ่ง
คดีมีปัญหาตามที่จำเลยฎีกาเพียงประการเดียวว่า
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่ได้นำเรื่องคำสั่งคำร้อง
และคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างไว้ในอุทธรณ์มาวินิจฉัยเทียบเคียง การกระทำของจำเลยไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น
เห็นว่า ฎีกาของจำเลยดังกล่าวมีลักษณะเป็นการโต้แย้งว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย ซึ่งเมื่อพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว
เป็นอุทธรณ์ที่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่
อันเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย มิใช่เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงดังที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย
และเมื่อมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวนี้ไปเสียทีเดียวได้และเพื่อความรวดเร็ว
ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาพิพากษาใหม่ เห็นว่า
การเลิกจ้างที่จะถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นต้องพิเคราะห์ถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่า นายจ้างมีเหตุอันสมควรหรือเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่
เป็นคนละเหตุกับการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เมื่อข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันได้ความว่า
โจทก์ยอมรับว่าได้ขับรถยกกล่องใส่เศษสะแคร็ปที่มีม้วนสายโทรศัพท์วางอยู่บนกล่องดังกล่าวซึ่งมีมูลค่าหากได้นำไปขายต่อบุคคลภายนอก
โดยไม่มีผู้ใดสั่งให้ยกมาเก็บไว้ในสถานที่ล่อแหลมพร้อมในการนำออกสู่ภายนอก การกระทำของโจทก์จึงส่อไปในทางทุจริต
เป็นเหตุให้จำเลยไม่ไว้วางใจและ ขาดความเชื่อถือในการทำงานของโจทก์
การเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยจึงมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์
ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย
กับให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง