โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาของนายเผอิญ เฟื่องทรัพย์ ซึ่งได้เอาประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ทวีคูณ กับจำเลยกำหนดระยะ 20 ปี ชำระเบี้ยประกันภัยเดือนละ 200 บาท เป็นเวลา 15 ปี จำนวนเงินอุบัติเหตุ51,700 บาท ระบุโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน2527 เวลาประมาณ 23 นาฬิกา นายเผอิญถูกรถยนต์ชนถึงแก่กรรม จำเลยปฏิเสธที่จะใช้ค่าสินไหมทดแทน ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทอแทนแก่โจทก์จำนวน 51,700 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า กรมธรรม์ประกันชีวิตที่ทำกับนายเผชิญ ขาดผลบังคับแล้วเพราะนายเผอิญได้ชำระเบี้ยประกันภัยเพียง 3 งวด(มิถุนายน, กรกฎาคม, สิงหาคม) สำหรับเบี้ยประกันงวดเดือนกันยายนและตุลาคม 2527 ผู้เอาประกันภัยชำระให้แก่ตัวแทนของจำเลยย้อนหลังเมื่อกรมธรรม์ขาดผลบังคับแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 41,700 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...คดีมีประเด็นว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้องจากจำเลยหรือไม่ จำเลยต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์เพราะกรมธรรม์ประกันภัยไม่มีผลบังคับแล้วเนื่องจากนายเผอิญ ผู้เอาประกันชีวิตขาดส่งชำระเบี้ยประกันเกินกำหนด 2 เดือนนับแต่วันถึงกำหนดชำระตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัย ศาลฎีกาได้พิจารณาสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัย เอกสารหมาย ล.3 แล้วเห็นว่าตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไขการชำระเบี้ยประกันภัยไว้ตามข้อ 3. และข้อ 4. ในข้อ 3. กำหนดไว้ว่า "3. การชำระเบี้ยประกันภัยตามกำหนดแล้วหากผู้เอาประกันภัยไม่ชำระเบี้ยประกันภัยเมื่อถึงกำหนดบริษัทจะผ่อนผันขยายเวลาให้อีก 2 เดือนนับแต่วันที่กำหนดชำระ ภายในกำหนดระยะเวลาที่ผ่อนผัน บริษัทถือว่ากรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มีผลบังคับอยู่โดยสมบูรณ์" ข้อ 4. กำหนดไว้ดังนี้ "4.กรมธรรม์ประกันภัยขาดอายุและการต่ออายุ หากผู้เอาประกันภัยไม่ชำระเบี้ยประกันภัยภายในกำหนดระยะเวลาที่ผ่อนผันให้ กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะขาดผลบังคับทันที ข้อ 4. วรรคสองกำหนดไว้ว่า ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยได้ภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ขาดชำระ โดยผู้เอาประกันภัยต้องชำระเบี้ยประกันภัยที่ค้างอยู่พร้อมทั้งหนี้สินที่ค้าชำระใด ๆ ซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ (หากมี) ให้แก่บริษัทภายในกำหนดเวลาดังกล่าว และในการนี้บริษัทจะถือว่าการชำระเบี้ยประกันภายหลังจากกรมธรรม์ประกันภัยขาดผลบังคับตามความในวรรคแรกเป็นการต่ออายุกรมธรรม์และข้อ 4. วรรคสามกำหนดไว้ว่า อนึ่ง บริษัทสงวนสิทธิที่จะปฏิเสธไม่รับต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ก็ได้ หากปรากฏว่าผู้เอาประกันภัยมีสุขภาพไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม" ดังนี้แสดงให้เห็นว่าเงื่อนไขขอการเลิกสัญญาเพราะเหตุผู้เอาประกันมิได้ชำระเบี้ยประกันภัยตามกำหนดนั้นมิได้บังคับไว้โดยเด็ดขาด แม้ผู้เอาประกันภัยไม่ชำระเบี้ยประกันภัยตามกำหนด จำเลยก็ยังผ่อนผันขยายเวลาให้ชำระเบี้ยประกันภัยที่ค้างนั้นได้ภายในกำหนด 2 เดือนนับแต่วันถึงกำหนดชำระ และภายในกำหนดระยะเวลาที่ผ่อนผันดังกล่าวก็ให้ถือว่า กรมธรรม์ประกันภัยยังมีผลบังคับอยู่โดยสมบูรณ์ นอกจากนั้นตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 4. วรรคสอง ยังกำหนดให้สิทธิแก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งขาดชำระเบี้ยประกันภัยมีสิทธิต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยได้ภายในกำหนดห้าปีนับแต่ที่ขาดชำระ โดยผู้เอาประกันภัยต้องชำระเบี้ยประกันภัยที่ค้าอยู่พร้อมทั้งหนี้ค้างชำระใด ๆ ซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยกรมธรรม์ประกันภัย (หากมี) ให้แก่จำเลยในกำหนดเวลาดังกล่าวและในการนี้จำเลยจะถือว่าการชำระเบี้ยประกันภัยภายหลังจากกรมธรรม์ประกันภัยขาดผลบังคับตามวรรคแรกเป็นการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่านายเผอิญ ผู้เอาประกันภัยได้ชำระเบี้ยประกันภัยที่ขาดชำระสำหรับเดือนกันยายนและตุลาคม 2527 ให้แก่นางสาวพรรณี ตัวแทนของจำเลยเมื่อวันที่ 13พฤศจิกายน 2527 จึงฟังได้ว่า นายเผอิญ ผู้เอาประกันภัยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 3 และข้อ 4. วรรคสอง โดยใช้สิทธิต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว ซึ่งตามข้อ 4. วรรคสองนั้นระบุไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยจะถือเอาเป็นการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย ดังนี้กรณีถือได้ว่ากรมธรรม์ประกันภัยมีผลบังคับโดยสมบูรณ์ตามเงื่อนไขนั้นแล้ว ไม่จำต้องให้จำเลยอนุญาตหรือแสดงเจตนาใหม่ในการรับต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยตามที่จำเลยอ้าง เพราะมิใช่กรณีเกี่ยวกับสุขภาพของผู้เอาประกันภัยสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ตามเงื่อนไขในข้อ 4.วรรคสองซึ่งจำเลยสงวนสิทธิที่จะปฏิเสธไม่รับต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยได้เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เช่นนี้แม้นางสาวพรรณี ตัวแทนจำเลยยังไม่ได้นำเบี้ยประกันภัยส่งให้แก่จำเลยและวันรุ่งขึ้นนายเผอิญผู้เอาประกันภัยถูกรถชนถึงแก่ความตาย จำเลยก็ไม่พ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินตามฟ้องจากจำเลยคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความให้จำเลยใช้แทนโจทก์ 2,500 บาทนั้น เกินกว่าอัตราค่าทนายความที่กฎหมายกำหนด จึงเห็นสมควรกำหนดเสียใหม่ให้ถูกต้อง"
พิพากษายืน.