โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 92
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) (5) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 24,000 บาท รวม 3 กระทง ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 72,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 4 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 12 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายวีระพล ดำเนินคดีแทนโจทก์ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2558 โจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ในขณะนั้น ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกิจการของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 40,000,000 บาท ผ่อนชำระ 60 งวด ต่อมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 โจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกิจการฉบับใหม่ ยอดเงินที่จำเลยที่ 2 ต้องชำระให้แก่โจทก์หลังปรับลดหนี้กันแล้ว คงเหลือ 21,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 ออกเช็คธนาคาร ก. 60 ฉบับ ฉบับละ 350,000 บาท ให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ดังกล่าว และจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมการของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ออกจากตำแหน่งกรรมการและให้จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการเข้าใหม่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ออกเช็คธนาคาร ก. 36 จำนวน 3 ฉบับ ฉบับละ 350,000 บาท ลงวันที่ 10 เมษายน 2562 วันที่ 10 พฤษภาคม 2562 และวันที่ 10 มิถุนายน 2562 ตามลำดับแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ดังกล่าว เมื่อเช็คพิพาททั้งสามฉบับดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงินได้ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ โดยให้เหตุผลว่า "มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน" มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองมีหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 และโจทก์มีหนังสือขอบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 อ้างถึงหนังสือการบอกเลิกสัญญาของจำเลยทั้งสองฉบับดังกล่าว โดยหลังจากนั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดอีกที่แสดงว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองประสงค์ให้สัญญามีผลต่อไป มีผลให้สัญญาจะซื้อจะขายกิจการระงับไป และเป็นการเลิกสัญญาก่อนที่เช็คพิพาททั้งสามฉบับจะถึงกำหนด โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จึงต้องคืนเช็คพิพาททั้งสามฉบับให้แก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่มีสิทธินำเช็คพิพาททั้งสามฉบับที่ออกล่วงหน้าเพื่อชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับ จำเลยทั้งสองก็ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 สำหรับฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน