โจทก์ทั้งสิบสองฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2555 และมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2555 ครั้งที่ 1 ให้จำเลยทั้งหกยกเลิกการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางอัตราตารางเมตรละ 18 บาทต่อเดือน ค่าที่จอดรถยนต์อัตราคันละ 200 บาทต่อเดือน และค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงอาคารอัตราตารางเมตรละ 1,000 บาท ห้ามมิให้จำเลยทั้งหกและพนักงานกระทำการหรือละเว้นกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางการเข้าออกอาคารชุดของโจทก์ทั้งสิบสองและบริวาร ให้จำเลยทั้งหกออกบัตรผ่านประตูสำหรับใช้เข้าออกอาคารชุดจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ทั้งสิบสองและบริวาร ให้ถอดถอนจำเลยที่ 2 พ้นจากตำแหน่งผู้จัดการ และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 9 จำนวน 232.98 บาท โจทก์ที่ 10 จำนวน 4,200 บาท โจทก์ที่ 11 จำนวน 1,200 บาท และโจทก์ที่ 12 จำนวน 4,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งหกให้การขอให้ยกฟ้อง ฟ้องแย้งและแก้ไขฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ทั้งสิบสองชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าที่จอดรถยนต์ และค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงอาคารที่ค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 โดยให้โจทก์ที่ 1 ชำระเงิน 47,609.07 บาท โจทก์ที่ 2 ชำระเงิน 55,684.50 บาท โจทก์ที่ 3 ชำระเงิน 31,164.90 บาท โจทก์ที่ 4 ชำระเงิน 33,988.41 บาท โจทก์ที่ 5 ชำระเงิน 31,588.41 บาท โจทก์ที่ 6 ชำระเงิน 62,301.46 บาท โจทก์ที่ 7 ชำระเงิน 35,574.18 บาท โจทก์ที่ 8 ชำระเงิน 42,022.20 บาท โจทก์ที่ 9 ชำระเงิน 67,320.33 บาท โจทก์ที่ 10 ชำระเงิน 28,747.35 บาท โจทก์ที่ 11 ชำระเงิน 31,281.39 บาท และโจทก์ที่ 12 ชำระเงิน 28,048.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ของต้นเงินของโจทก์แต่ละราย นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
โจทก์ทั้งสิบสองให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 4,200 บาท โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 1,200 บาท และโจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 4,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ (ฟ้องวันที่ 1 สิงหาคม 2556) ห้ามมิให้จำเลยทั้งหกกระทำการหรือละเว้นกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางโจทก์ทั้งสิบสองมิให้เข้าออกอาคารชุดจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ออกบัตรผ่านประตูสำหรับใช้เข้าออกอาคารชุดจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ทั้งสิบสองและบริวาร ให้โจทก์ที่ 1 ชำระเงิน 2,279.07 บาท โจทก์ที่ 2 ชำระเงิน 1,984.50 บาท โจทก์ที่ 3 ชำระเงิน 1,164.90 บาท โจทก์ที่ 4 ชำระเงิน 1,588.41 บาท โจทก์ที่ 5 ชำระเงิน 1,588.41 บาท โจทก์ที่ 6 ชำระเงิน 2,471.46 บาท โจทก์ที่ 7 ชำระเงิน 1,574.18 บาท โจทก์ที่ 8 ชำระเงิน 1,392.20 บาท โจทก์ที่ 9 ชำระเงิน 2,520.33 บาท โจทก์ที่ 10 ชำระเงิน 1,747.35 บาท โจทก์ที่ 11 ชำระเงิน 1,281.39 บาท และโจทก์ที่ 12 ชำระเงิน 1,048.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ (ฟ้องแย้งวันที่ 25 ตุลาคม 2556) แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของฟ้องโจทก์ทั้งสิบสองและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งหกให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ทั้งในส่วนฟ้องโจทก์ทั้งสิบสองและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งหกให้ยก
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 7 ถึงที่ 9 ที่ 11 ที่ 12 และจำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 7 ถึงที่ 9 ที่ 11 ที่ 12 และจำเลยทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์ทั้งสิบสอง และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ต่างเป็นเจ้าของห้องชุดในอาคารชุดแฟมมิลี่ ทาวน์ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลอาคารชุด เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดดังกล่าว มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2555 ในวันที่ 16 ธันวาคม 2555 และจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2555 ครั้งที่ 1 ในวันที่ 26 ธันวาคม 2555 ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาห้วยขวาง รับจดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับและการปรับขึ้นค่าใช้จ่ายส่วนกลาง จำเลยที่ 1 เรียกเก็บเงินจากโจทก์ทั้งสิบสองเป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลางเพิ่มจากอัตราตารางเมตรละ 14 บาท เป็นตารางเมตรละ 18 บาทต่อเดือน ค่าที่จอดรถยนต์เพิ่มจากอัตราคันละ 100 บาทต่อเดือน เป็นคันละ 200 บาทต่อเดือน และค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงอาคารในอัตราตารางเมตรละ 1,000 บาท โจทก์ทั้งสิบสองไม่ได้ชำระเงินดังกล่าวครบถ้วน คงค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง จำเลยที่ 1 ไม่ได้มอบบัตรผ่านประตูหรือคีย์การ์ดให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองเพื่อใช้ผ่านเข้าออกอาคารชุด
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งหกว่า โจทก์ที่ 2 ที่ 6 และที่ 9 ต้องชำระค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงอาคารในอัตราตารางเมตรละ 1,000 บาท และค่าที่จอดรถยนต์เพิ่มจากคันละ 100 บาทต่อเดือน เป็นคันละ 200 บาทต่อเดือน ตามที่ที่ประชุมใหญ่ของจำเลยที่ 1 มีมติให้เรียกเก็บหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2555 ในวันที่ 16 ธันวาคม 2555 และจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2555 ครั้งที่ 1 ในวันที่ 26 ธันวาคม 2555 เมื่อพิจารณาสำเนารายงานการประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมแล้ว ปรากฏว่า ในวาระที่ 8 พิจารณางานปรับปรุงอาคารทั้งระบบเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 นายนินนาท วิศวกรผู้ตรวจสอบอาคาร อธิบายการตรวจสอบอาคารซึ่งต้องปรับปรุงระบบความปลอดภัย งบประมาณ 20,200,000 บาท จำเลยที่ 2 ขอให้ที่ประชุมพิจารณางบปรับปรุงอาคาร ซึ่งจะจัดเก็บตารางเมตรละ 1,000 บาท ที่ประชุมมีมติ แต่ไม่ผ่านการรับรองตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ที่ระบุให้ใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมด และวาระที่ 9 พิจารณาแก้ไขและเพิ่มเติมกฎระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ขอให้ที่ประชุมพิจารณาข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดที่ได้ทำตารางเปรียบเทียบเดิมกับข้อบังคับฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ตามเอกสารประกอบการประชุมหน้า 39 ถึง 70 เพื่อให้ข้อบังคับมีความถูกต้องสอดคล้องกับพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 รวมทั้งชี้แจงในหัวข้อที่ 10.1 ให้มีการปรับขึ้นค่าส่วนกลางในอัตรา 22 บาทต่อตารางเมตร แต่ปี 2556 ให้ทำการจัดเก็บในอัตรา 18 บาทต่อตารางเมตร และในข้อ 11.4 แก้ไขค่าที่จอดรถยนต์เป็นคันละ 200 บาท หรือ 2,400 บาทต่อปี ที่ประชุมมีมติ แต่ไม่ผ่านการรับรองตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกัน ส่วนการประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2555 ครั้งที่ 1 ในวันที่ 26 ธันวาคม 2555 ไม่ปรากฏว่าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมเพื่อลงมติตามวาระการประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2555 ที่พิจารณาไว้เดิม โดยในวาระที่ 2 พิจารณางานปรับปรุงอาคารทั้งระบบเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งนายสุวิทย์ ประธานที่ประชุมเสนอให้พิจารณางานปรับปรุงอาคารและงบประมาณเท่านั้น ไม่ได้ระบุให้พิจารณาถึงค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงอาคารที่จะเรียกเก็บจากเจ้าของร่วม และวาระที่ 3 พิจารณาแก้ไขและเพิ่มเติมกฎระเบียบข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดที่ทำตารางเปรียบเทียบตามเอกสารประกอบการประชุมหน้า 39 ถึง 70 ในรายงานการประชุมไม่ได้มีการแก้ไขและเพิ่มเติมกฎระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ในข้อใดบ้าง และจำเลยทั้งหกก็ไม่ได้นำสืบในข้อนี้ ซึ่งแตกต่างกับการขึ้นค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามรายงานการประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมและการประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วม วาระที่ 10 และวาระที่ 4 ต่างระบุให้มีการปรับขึ้นค่าส่วนกลางในอัตรา 22 บาทต่อตารางเมตรแต่ในปี 2556 ให้ทำการจัดเก็บค่าส่วนกลางในอัตรา 18 บาทต่อตารางเมตร และในปี 2557 จัดเก็บในอัตรา 22 บาทต่อตารางเมตร ประกอบกับศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยให้เหตุผลและรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ชอบแล้ว ดังนั้น จากกรณีดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2555 ครั้งที่ 1 ในวันที่ 26 ธันวาคม 2555 มีมติให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงอาคารในอัตราตารางเมตรละ 1,000 บาท และค่าที่จอดรถยนต์เพิ่มเป็นคันละ 200 บาทต่อเดือน ฎีกาของจำเลยทั้งหกฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 7 ถึงที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสิบสองฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2555 และมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2555 ครั้งที่ 1 เกินกำหนดเวลาหรือไม่ กับปัญหาที่จำเลยทั้งหกฎีกาว่า โจทก์ทั้งสิบสองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ของค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระหรือไม่ และโจทก์ทั้งสิบสองมีสิทธิขอให้จำเลยที่ 1 ออกบัตรผ่านประตูหรือคีย์การ์ดสำหรับใช้เข้าออกอาคารชุดได้หรือไม่นั้น ปัญหาทั้งสามข้อนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 30 กำหนดว่า “ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้กับการประชุมใหญ่เจ้าของร่วมโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้” ประกอบกับตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้กำหนดเวลาร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอันผิดระเบียบไว้ จึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติการจัดตั้งนิติบุคคลอาคารชุด ผู้จัดการและคณะกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด อันมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิธีจัดการบริษัทจำกัด เหตุนี้จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 มาใช้บังคับเช่นกัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 บัญญัติให้การร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้น ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมติ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การจัดการนิติบุคคลอาคารชุดเป็นไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพตรงตามความประสงค์ของเจ้าของร่วมทั้งหลาย คดีนี้เมื่อจำเลยที่ 1 จัดประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2555 ในวันที่ 16 ธันวาคม 2555 และประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2555 ครั้งที่ 1 ในวันที่ 26 ธันวาคม 2555 และมีมติในวันประชุมดังกล่าว โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งหกปกปิดการประชุมใหญ่ดังกล่าวต่อเจ้าของร่วม โจทก์ทั้งสิบสองจึงต้องร้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2555 ภายในวันที่ 16 มกราคม 2556 และต้องร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2555 ครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 26 มกราคม 2556 แต่โจทก์ทั้งสิบสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 กรณีจึงล่วงเลยระยะเวลาการใช้สิทธิตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสิบสองไม่มีสิทธิเรียกร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2555 และมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2555 ครั้งที่ 1 ส่วนปัญหาว่าโจทก์ทั้งสิบสองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ของค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระหรือไม่นั้น แม้ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18/1 วรรคสอง จะบัญญัติให้เจ้าของร่วมที่ค้างชำระเงินตามมาตรา 18 ซึ่งได้แก่ ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละยี่สิบต่อปี และอาจถูกระงับการให้บริการส่วนรวมหรือการใช้ทรัพย์ส่วนกลางตามที่กำหนดในข้อบังคับ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ต้องกำหนดเงินเพิ่มดังกล่าวไว้ในข้อบังคับของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยทั้งหกมิได้นำสืบให้เห็นว่ามีข้อบังคับที่ให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ได้ โจทก์ทั้งสิบสองไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ให้แก่จำเลยที่ 1 และปัญหาว่าโจทก์ทั้งสิบสองมีสิทธิขอให้จำเลยที่ 1 ออกบัตรผ่านประตูหรือคีย์การ์ดสำหรับใช้เข้าออกอาคารชุดได้หรือไม่นั้น แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ทั้งสิบสองค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางแก่จำเลยที่ 1 เกินกว่า 6 เดือน และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 11 ประกอบพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18/1 โจทก์ทั้งสิบสองอาจถูกระงับการให้บริการส่วนรวมหรือการใช้ทรัพย์ส่วนกลางได้ แต่เมื่อโจทก์ทั้งสิบสองต่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดของตนในอาคารชุดซึ่งถือเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 โจทก์ทั้งสิบสองย่อมมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 จำเลยที่ 1 คงมีหน้าที่รับผิดชอบจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด และมีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามมติเจ้าของร่วมตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 วรรคสอง หามีอำนาจกระทำการใดเป็นการรบกวนสิทธิหรือเสื่อมความสะดวกในการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของร่วมไม่ การที่จำเลยที่ 1 จะไม่ส่งมอบบัตรผ่านประตูหรือคีย์การ์ดให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองซึ่งค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสิบสองเสื่อมเสียสิทธิในการใช้สอยทรัพย์ส่วนบุคคลของโจทก์ทั้งสิบสอง จึงไม่อาจกระทำได้ ให้จำเลยที่ 1 ออกบัตรผ่านประตูหรือคีย์การ์ดสำหรับใช้เข้าออกอาคารชุดให้แก่โจทก์ทั้งสิบสอง เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 7 ถึงที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 และฎีกาของจำเลยทั้งหกดังกล่าวเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในทำนองเดียวกันกับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 7 ถึงที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 และอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหก ที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยโดยให้เหตุผลและรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยซ้ำอีก ศาลฎีกาจึงไม่รับฎีกาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 7 ถึงที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 และฎีกาของจำเลยทั้งหกดังกล่าวไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 23 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ