คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 209,665.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
วันที่ 14 กันยายน 2561 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการอายัดหรือมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีตามคำสั่งอายัดไว้ในระหว่างรอคำวินิจฉัยชี้ขาด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมกันชำระเงิน 209,665.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์ร้องขอให้บังคับคดี และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 ระหว่างบังคับคดี โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาในข้อหาโกงเจ้าหนี้ตามคดีอาญาหมายเลขดำ ที่ 1928/2559 ของศาลจังหวัดนครนายก ซึ่งคดีอาญาดังกล่าวปรากฏว่าในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันได้ โดยจำเลยที่ 1 จะชดใช้เงินให้โจทก์ 100,000 บาท ภายในวันที่ 31 มกราคม 2561 หากจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินดังกล่าวแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องและไม่ติดใจบังคับคดีในคดีแพ่งเรื่องเช่าซื้อ ค้ำประกันคดีนี้อีก วันที่ 31 มกราคม 2561 โจทก์ถอนฟ้องคดีดังกล่าวด้วยเหตุที่จำเลยที่ 1 ชำระเงินครบถ้วนแล้ว เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 โจทก์ขออายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 คือเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ของธนาคาร ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2561 โจทก์ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอถอนการบังคับคดีและถอนการอายัด ครั้นวันที่ 12 กันยายน 2561 โจทก์ยื่นคำร้องขอยกเลิกการถอนการบังคับคดีและถอนการอายัดดังกล่าว คดีอยู่ระหว่างผู้รับคำสั่งอายัดนำเงินส่งตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่าการที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1928/2559 ของศาลจังหวัดนครนายก ว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงิน 100,000 บาท แก่โจทก์แล้ว โจทก์จะถอนฟ้องและไม่ติดใจบังคับคดีนี้แก่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้นั้นเป็นการสละสิทธิในการบังคับคดีนี้ทั้งหมดรวมทั้งจำเลยที่ 2 ด้วยหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันต่อหน้าศาลเป็นการผ่อนปรนกันยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขซึ่งกันและกันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นข้อตกลงที่จะให้มีผลผูกพันบุคคลภายนอกคือจำเลยที่ 2 ด้วย สิทธิในการบังคับคดีของโจทก์ต่อจำเลยทั้งสองย่อมระงับสิ้นไป โจทก์สละสิทธิในการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองแล้ว เห็นว่า หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ข้อตกลงในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1928/2559 ของศาลจังหวัดนครนายก ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 มีความว่า จำเลยที่ 1 จะชดใช้เงินให้โจทก์ 100,000 บาท ภายในวันที่ 31 มกราคม 2561 หากจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินดังกล่าว แล้วโจทก์จะถอนฟ้อง และไม่ติดใจบังคับคดีในคดีนี้ ความปรากฏต่อมาว่าในวันที่ 31 มกราคม 2561 โจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวด้วยเหตุที่จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว เมื่อพิจารณาถึงจำนวนหนี้ตามคำพิพากษา 209,665.64 บาท พร้อมดอกเบี้ย และคำนึงถึงมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีอาญาที่สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทในการบังคับคดีแพ่งเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่นั้นให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันโดยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขซึ่งกันและกัน ข้อตกลงเช่นนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 มีผลทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมตกลงด้วยแต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ตามผลแห่งคำพิพากษาเป็นความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันที่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ซี่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้ตกลงกับโจทก์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายประสงค์ให้หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ระงับสิ้นไปเพราะหากจำเลยที่ 2 ยังต้องรับผิดและได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาส่วนที่เหลือแก่โจทก์แล้วย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้อีกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 ซึ่งโดยเหตุผลแล้วไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น ยิ่งกว่านั้นได้ความว่าภายหลังจากที่โจทก์ถอนฟ้องคดีอาญานั้นแล้วในวันที่ 11 กันยายน 2561 โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอถอนการบังคับคดีและถอนการอายัดคดีนี้ แสดงว่าโจทก์ก็เข้าใจเช่นนั้นว่าโจทก์ไม่ติดใจบังคับคดีนี้ ทั้งข้อความตอนท้ายของคำร้องดังกล่าวยังระบุถึงเงินที่หากจะนำส่งมาให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนแก่จำเลย การที่โจทก์มายื่นคำร้องขอถอนคำร้องดังกล่าวในภายหลังไม่ทำให้ผลแห่งข้อตกลงเปลี่ยนแปลงไป การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1928/2559 ของศาลจังหวัดนครนายกว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงิน 100,000 บาท แก่โจทก์แล้ว โจทก์จะถอนฟ้องและไม่ติดใจบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้นั้นเป็นการสละสิทธิในการบังคับคดีนี้ทั้งหมดรวมทั้งจำเลยที่ 2 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีผู้บริโภคการยื่นคำฟ้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในชั้นฎีกา โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บริโภคจึงได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 55 เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาพร้อมฎีกานอกจากได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลแล้วจำเลยที่ 2 ยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการส่งคำคู่ความแก่โจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีด้วย แต่จำเลยที่ 2 เสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้มารวม 750 บาท จึงให้คืนค่าใช้จ่ายดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2
พิพากษากลับให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่อายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 คือเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ของธนาคาร คืนค่าใช้จ่ายในการส่งคำคู่ความในชั้นฎีกา 750 บาท แก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลนอกจากนี้ให้เป็นพับ