คดีนี้ ศาลพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลว่าเป็นเจ้าหนี้ผู้ล้มละลายได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดที่ดิน ๒ แปลงของผู้ล้มละลาย โดยผู้ล้มละลายใส่ชื่อบุตรผู้เยาว์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้อายัดไว้แล้ว แต่ต่อมาบุตรของผู้ล้มละลายคัดค้าน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนพยานของผู้คัดค้านแล้วสั่งให้ถอนการอายัด ผู้ร้องเห็นว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วมีคำสั่งกลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ศาลชั้นต้นเห็นว่ากรณีเรื่องนี้เข้าตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา ๑๔๖ ไม่ใช่มาตรา ๑๕๘ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ไต่สวนถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินทั้ง ๒ แปลงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เยาว์ จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา ๑๙ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจและหน้าที่ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจและหน้าที่ที่จะพิจารณาว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นของลูกหนี้หรือไม่ มาตรา ๑๕๘ เป็นเรื่องที่มีผู้คัดค้านว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจยึดทรัพย์ กรณีเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องคัดค้านว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจยึดทรัพย์ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๕๘ แต่เป็นกรณีเกี่ยวกับมาตรา ๑๔๖ ซึ่งให้อำนาจศาลที่จะสั่งยืน กลับ หรือแก้ไข หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ ฉะนั้น ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างไร ย่อมแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรเป็นราย ๆ ไป ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ที่ศาลมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จึงไม่เป็นการผิดกฎหมาย
พิพากษายืน.