โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านเลขที่ 1384/1 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 29673จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 124107 และบ้านเลขที่ 1390 เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2537 จำเลยได้ก่อสร้างต่อเติมบ้านเลขที่ 1390 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินและบ้านของโจทก์ โดยต่อเดิมทั้งด้านหลัง ด้านข้างและด้านหน้าบนแนวรั้วกำแพงเดิมของโจทก์ โดยจำเลยรื้อกำแพงเดิมที่โจทก์ใช้และเป็นเจ้าของรวมออก แล้วต่อเติมรั้วกำแพงเป็นผนังของตัวอาคารที่ก่อสร้างใหม่ โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ทำให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์กับเสียสิทธิการใช้กำแพงที่เป็นแนวรั้วเดิม ทั้งการกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้มีเศษวัสดุตกหล่น เข้ามาในบริเวณบ้านของโจทก์ ทำให้โจทก์เดือดร้อนรำคาญเกินกว่าจะอยู่อาศัยให้เป็นปกติสุข ปิดทางลมและแสงแดดให้แก่พืชพันธุ์ในบริเวณบ้านของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิที่ผิดกฎหมายและเป็นละเมิดแก่โจทก์ โจทก์เสียหายคิดเป็นเงิน 200,000 บาท ขอบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยหยุดการก่อสร้างและรื้อถอนการก่อสร้างต่อเติมตัวอาคารเลขที่ 1390 ซึ่งกระทำบนกำแพงรั้วเดิมของโจทก์ แล้วทำให้กำแพงรั้วกลับดีอย่างเดิม
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 29673 และบ้านสองชั้นเลขที่ 1384/1 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวส่วนจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 124107 และบ้านทาวน์เฮาส์ สองชั้นเลขที่ 1390 ซึ่งอยู่บนที่ดินของจำเลยบ้านและที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับบ้านและที่ดินของจำเลยทางด้านทิศใต้ ระหว่างที่ดินของโจทก์กับจำเลยมีกำแพงรั้วพิพาทกั้นเป็นแนวเขต เมื่อเดือนกรกฎาคม 2537 จำเลยรื้อรั้วเดิมแล้วก่อสร้างอาคารทับแนวรั้วเดิมชิดแนวกำแพงรั้วพิพาทโดยการก่อสร้างต่อเติมเป็นกำแพงอิฐมอญสูง 3.25 เมตรแล้วให้กำแพงส่วนนี้เป็นผนังโรงรถ ด้านบนก่อสร้างเป็นระเบียงมีเสาลูกกรงเป็นปูนโดยรอบ พื้นระเบียงปูกระเบื้องหลังคาระเบียงเป็นหลังคาโค้งใช้วัสดุคล้ายพลาสติกสีมุงอยู่
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์เป็นเจ้าของรวมในกำแพงรั้วพิพาทหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ชัดว่า กำแพงรั้วพิพาทปลูกสร้างอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยโจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของรวมในกำแพงรั้วพิพาท ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ใช้แนวกำแพงรั้วพิพาทเป็นแนวแบ่งเขตมานานตั้งแต่ปี 2528โดยได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 124107เดิมมานานกว่า 10 ปี โดยโจทก์ใช้แนวรั้วพิพาทร่วมกันเป็นแนวแบ่งเขตนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่ากำแพงรั้วพิพาทอยู่ในแนวเขตที่ดินของจำเลย แม้โจทก์จะอาศัยใช้เป็นแนวแบ่งเขตที่ดินมานานเท่าใดก็ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิเป็นเจ้าของรวมในกำแพงรั้วพิพาท เพราะโจทก์มิได้ครอบครองกำแพงรั้วพิพาทส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยก่อสร้างผนังอาคารทับแนวรั้วเดิมทำให้โจทก์เสียแดน กรรมสิทธิ์รวม โจทก์ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากรั้วพิพาท ตลอดจนจำเลยไม่เคยขออนุญาตจากสำนักงานเขตดินแดงในการก่อสร้าง เมื่อโจทก์ร้องเรียนสำนักงานเขตดินแดงแล้วสำนักงานเขตดินแดงมีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารที่จำเลยต่อเติม แสดงว่า การกระทำของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์เดือดร้อนนั้นเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1335 บัญญัติถึงลักษณะของแดน กรรมสิทธิ์ที่ดินว่ากินทั้งเหนือพ้นพื้นดินและใต้พื้นดินด้วย ซึ่งมีความหมายชัดเจนว่า เจ้าของที่ดินมีแดน กรรมสิทธิ์เหนือพื้นดินและใต้พื้นดินเฉพาะในอาณาเขตที่ดินของตนเท่านั้น หาได้หมายความรวมถึงแดน กรรมสิทธิ์เหนือพื้นดินในสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกสร้างโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ในเขตที่ดินของผู้อื่นซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดกันไม่ เมื่อกำแพงรั้วพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยและได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าโจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ดังนั้น โจทก์จึงไม่เสียแดน กรรมสิทธิ์รวมในการที่ไม่ได้ขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีหนังสือให้จำเลยระงับการก่อสร้างตลอดมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนส่วนที่ต่อเติมนั้นก็เป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็นคนละประเด็นกับกรณีที่จำเลยทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ฉะนั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ในกรณีดังกล่าว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการต่อไปว่าการที่โจทก์ยังคงได้รับแสงสว่างและสายลมพัดเพียงบางคราวเท่านั้นโจทก์ไม่ได้รับความสะดวกจากแสงแดดและสายลมผ่าน ซึ่งเมื่อคำนึงความเดือดร้อนของโจทก์แล้วย่อมเกินกว่าที่ควรคิดหรือคาดหมายหรือไม่ ในประเด็นนี้โจทก์ฎีกาอ้างเพียงว่า โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร เพราะมิฉะนั้นสำนักงานเขตดินแดงคงไม่มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่พิพาท เห็นว่าการที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทดังกล่าว เนื่องจากจำเลยไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้างต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นอันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ดังที่ได้วินิจฉัยมาหาใช่ประเด็นที่จำเลยละเมิดต่อโจทก์และโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ไม่ ฎีกาโจทก์ข้อนี้จึงไม่มีเหตุผลให้รับฟัง
พิพากษายืน