โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 313,541 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 299,825 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 14 กันยายน 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2538) ต้องไม่เกิน 9,501 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 6,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้ขับรถยนต์กระบะด้วยความประมาทชนรถยนต์เก๋ง ซึ่งโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยไว้เสียหาย และเป็นเหตุให้พันโทสมภพกับนางบุญเพ็ญถึงแก่ความตาย นางสุวลีได้รับอันตรายสาหัส หลังเกิดเหตุโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายสำหรับตัวรถจำนวน 300,000 บาท ให้แก่นางสาวณัฐยาน์ ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย รับไปแล้วเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2537 และจ่ายค่ารักษาพยาบาลจำนวน 39,040 บาท ให้นางสุวลี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2537 และ 14 กันยายน 2537 ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2537 จำเลยได้ใช้ค่าทำศพค่ารักษาพยาบาลและความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด จำนวน 300,000 บาท ให้ฝ่ายผู้เสียหายรับไปเช่นกัน ปัญหาตามฎีกาของจำเลยมีว่า การที่โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปนั้นได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกเอาจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า วินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำโดยประมาทของจำเลย โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อจำเลยเพียงนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคแรก ดังนั้น เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตัวรถตามทุนประกันจำนวน 300,000 บาท และใช้ค่ารักษาพยาบาลให้นางสุวลีจำนวน 39,040 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายตามข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัยโดยสุจริต สิทธิการรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ของโจทก์จึงเกิดขึ้นแล้ว แม้ว่าหลังจากนั้นจำเลยจะได้ชดใช้ค่าเสียหายให้ฝ่ายผู้เสียหายจำนวน 300,000 บาท ก็หาทำให้สิทธิในการรับช่วงสิทธิของโจทก์ซึ่งมีอยู่แล้วสิ้นไปไม่
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.