ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การหักค่าจ้างจากลูกจ้างเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย ต้องมีหลักฐานความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร และใช้ได้เฉพาะช่วงที่ยังมีสถานะนายจ้าง-ลูกจ้าง
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 วรรคแรกบัญญัติว่า "ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่างานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ...(4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง (5)..." และมาตรา 77 บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือมีข้อตกลงกับลูกจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินตามมาตรา 54 มาตรา 55 หรือการหักเงินตามมาตรา 76 นายจ้างต้องจัดทำเป็นหนังสือและให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในการให้ความยินยอมหรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะ" จากบทบัญญัติดังกล่าวทำให้เห็นเจตนารมณ์ได้ว่า การห้ามนายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดก็เพื่อคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนเพราะถูกหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด อันจะทำให้รายได้จากการทำงานลดลง และลูกจ้างอาจหมดกำลังใจในการทำงานที่ไม่ได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยนายจ้างจะหักได้ก็เฉพาะกรณีเข้าข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้เท่านั้น และสำหรับกรณีหักเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงซึ่งเป็นไปตามข้อยกเว้น จะหักได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากลูกจ้างโดยนายจ้างต้องจัดทำเป็นหนังสือและให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในการยินยอมหรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะอีกด้วย เมื่อพิเคราะห์เจตนารมณ์ของการห้ามหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดดังกล่าว ประกอบกับข้อที่ว่านายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วยแล้ว ทำให้เข้าใจได้ว่า การห้ามหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดใช้บังคับเฉพาะในกรณีที่คู่สัญญายังคงมีสภาพเป็นนายจ้างลูกจ้างกันอยู่เท่านั้น คดีนี้ในขณะที่จำเลยฟ้องแย้ง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไปก่อนแล้ว ทั้งจำเลยมิได้ฟ้องแย้งขอหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการทำงานซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน จึงนำบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 และมาตรา 77 มาปรับใช้อ้างเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยไม่ได้ แต่ศาลแรงงานกลางมิได้ฟังข้อเท็จจริงมาให้ชัดเจนว่าน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำอัดลมบรรจุขวดที่บริษัท ท. และบริษัท น. ส่งมอบให้จำเลยแล้วมีมูลค่าเท่าใด ยังค้างชำระอยู่อีกเท่าใด ซึ่งศาลฎีกาไม่มีอำนาจกระทำได้ จึงต้องส่งสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาต่อไป