โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 50,000,000 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 321,784,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 25,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 พฤษภาคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท โดยส่วนที่โจทก์ได้รับยกเว้นนั้น ให้จำเลยที่ 1 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า โจทก์เป็นคนเชื้อชาติไทยอเมริกัน สัญชาติไทย อาชีพนักกีฬาและครูผู้ฝึกสอนกีฬาแก่เยาวชน เป็นนักกีฬาทีมชาติไทยประเภทกีฬาทางน้ำเวคบอร์ด สังกัดสมาคมเอ็กซ์ตรีมแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการสถานพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน รับรักษาคนไข้และคนป่วย โดยใช้ชื่อว่าโรงพยาบาล ก. จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์แผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อประจำโรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559 โจทก์เป็นตัวแทนนักกีฬาเวคบอร์ดของทีมประเทศไทยลงแข่งขันไอดับบลิวดับบลิวเอฟเอเชี่ยนคัพ (IWWF Asian Cup) จัดขึ้นที่ภูเก็ต วอเตอร์ ปาร์ค อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต โดยมีรถพยาบาลของจำเลยที่ 1 จอดให้บริการฉุกเฉิน ระหว่างแข่งขันโจทก์ประสบอุบัติเหตุตกจากเวคบอร์ดขากระแทกพื้นน้ำมีอาการปวดบวมที่ขาข้างซ้าย รถปฐมพยาบาลนำโจทก์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ที่ประเมินอาการบาดเจ็บของโจทก์ในเบื้องต้นพบว่าเข่าซ้ายมีการผิดรูปอย่างชัดเจน หลอดเลือดแดงไม่สามารถไหลไปยังปลายเท้าได้ สาเหตุเกิดจากการหนีบทับหรือบาดเจ็บรุนแรงของหลอดเลือดจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ ผลการตรวจพบการเคลื่อนของข้อเข่าและการบาดเจ็บของหลอดเลือดแดงขาพับด้านซ้ายทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน การรักษานอกจากผ่าตัดขาซ้ายนำลิ่มเลือดออกและซ่อมเส้นเลือดแดงที่ฉีกขาดแล้วโจทก์ยังได้รับการรักษาด้วยเครื่องออกซิเจนแรงดันสูง (HBO) เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้บริเวณขาซ้าย และตรวจพบว่าบริเวณขาซ้ายเกิดภาวะความดันสูงภายในช่องกล้ามเนื้อ ครั้นวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 โจทก์มีภาวะขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงขาซ้าย จำเลยที่ 1 ส่งโจทก์ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล ก. ซอยศูนย์วิจัย กรุงเทพมหานคร โดยเคลื่อนย้ายโจทก์ด้วยรถพยาบาลของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ที่จำเลยที่ 1 จัดให้บริการที่เรียกว่า SKY ICU ซึ่งเป็นของบริษัท EUROCOPTER รุ่น EC 145 ระหว่างเดินทางมารดาของโจทก์ประสงค์ให้ส่งโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร แพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดีรับโจทก์ไว้รักษาโดยได้ตัดขาซ้ายของโจทก์ตั้งแต่ช่วงเข่าลงไป ความรับผิดของจำเลยที่ 2 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพราะโจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกา คดีคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะความรับผิดของจำเลยที่ 1
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อในการดูแลรักษาโจทก์ ต้องรับผิดตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด โจทก์ยกเหตุผลประกอบข้อฎีกาว่า (1) จำเลยที่ 1 เลือกใช้วิธีการรักษาที่ผิดพลาด ข้อที่ว่าคิวตารางบินเต็ม โดยมีคิวเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินที่จังหวัดอื่น เป็นข้ออ้างลอย ๆ ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นเช่นนั้นตามภาระการพิสูจน์ การทำบายพาสคือการผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดโดยแพทย์ท้องถิ่นสามารถทำได้ เพราะนายแพทย์วิรุฬ เป็นแพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือด และทำงานนอกเวลาที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตสามารถทำงานร่วมกับแพทย์ประจำโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตตามที่นายแพทย์ชวลิต แพทย์โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตพยานโจทก์เบิกความ หรือมิเช่นนั้นก็ส่งแพทย์จากสำนักงานใหญ่มาผ่าตัดที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 แทน จะสามารถมาได้เร็วกว่า (2) เหตุการณ์ที่ย้ายโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเกิดขึ้นภายหลังที่เกิดข้อผิดพลาดแล้วคำแนะนำการรักษาโจทก์ไม่ได้ให้ส่งด้วยรถพยาบาล และ (3) รถพยาบาลที่ใช้ส่งโจทก์เป็นรถเก่า นายแพทย์ชวลิต พยานโจทก์เบิกความถึงการเฝ้าระวังภาวะความดันสูงภายในช่องกล้ามเนื้อต้องกระทำภายใน 8 ชั่วโมง หากเกินกว่านั้นมีโอกาสสูงที่จะต้องถูกตัดขา จำเลยที่ 1 เลือกใช้วิธีส่งโจทก์ไปรักษาต่อด้วยรถพยาบาลซึ่งใช้เวลาเดินทางกว่า 11 ชั่วโมง การที่โจทก์ถูกตัดขาเป็นผลโดยตรงจากการรักษาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้แม้โจทก์จะกล่าวในฎีกาถึงการจะไปรักษาที่สาธารณรัฐสิงคโปร์แต่โจทก์ก็ไม่ได้ฎีกาคัดค้านข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในเรื่องนี้คงปรากฏตามที่เน้นข้อความไว้ดังที่สรุปความได้เป็นฎีกาข้อ (3) อันเป็นข้อฎีกาถึงเรื่องที่จำเลยที่ 1 เลือกวิธีส่งโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาล ก. ซอยศูนย์วิจัย กรุงเทพมหานคร ด้วยรถพยาบาล อีกประการหนึ่งตามฟ้องโจทก์ไม่ได้อ้างว่าการทำบายพาสโดยแพทย์ท้องถิ่นสามารถทำได้ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ร่วมกับแพทย์โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตผ่าตัดบายพาสและไม่ได้อ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่ส่งแพทย์จากโรงพยาบาล ก. ซอยศูนย์วิจัย กรุงเทพมหานครมาร่วมรักษาโจทก์ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 ด้วยเหตุนี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้แต่เพียงว่าที่จำเลยที่ 1 ส่งโจทก์ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล ก. ซอยศูนย์วิจัย กรุงเทพมหานคร ด้วยรถพยาบาลไม่ใช้เฮลิคอปเตอร์ในการเคลื่อนย้ายโจทก์เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการดูแลรักษาโจทก์หรือไม่ ตามทางไต่สวนได้ความถึงอาการบาดเจ็บของโจทก์ว่านอกจากการรักษาโดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแพทย์กระดูกและข้อแล้ว ยังมีขั้นตอนการรักษาหลอดเลือดที่แพทย์หลอดเลือดเข้ามารักษาอาการของโจทก์ โดยนายแพทย์วิรุฬ ตรวจพบอาการเกิดตุ่มนํ้าพองใสบริเวณขาซ้ายและข้อเท้าซ้ายมีสีคลํ้าเกรงจะเกิดภาวะขาดเลือด เมื่อดำเนินการฉีดสีพบว่าเส้นเลือดที่เป็นเส้นหลักในการส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงขาข้างซ้ายไม่ปรากฏในผลการตรวจ ปรากฏแต่ภาพเส้นเลือดสาขาที่ยังคงหล่อเลี้ยงเลือดบริเวณขาซ้ายของโจทก์ นายแพทย์วิรุฬ ได้ปรึกษาผู้บริหารคือนายแพทย์ณรงค์ฤทธิ์ ได้ให้ปรึกษาแพทย์ทางโรงพยาบาล ก. ซอยศูนย์วิจัย กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ และนายแพทย์กมล แพทย์หลอดเลือดอาวุโสแนะนำให้ทำบายพาสด่วนโดยหาทีมแพทย์ท้องถิ่น หรือส่งต่อให้เลือกส่งต่อโดยทางเครื่องบินแต่นายแพทย์วิรุฬ ส่งโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาล ก. ซอยศูนย์วิจัย กรุงเทพมหานคร ด้วยรถพยาบาลของจำเลยที่ 1 โดยอ้างข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายโจทก์ด้วยเฮลิคอปเตอร์ว่าใช้ระยะเวลาในการประสานงาน การรอคิวว่างของเฮลิคอปเตอร์ที่ว่าต้องรออีก 2 ถึง 3 วัน การลงจอดรับผู้ป่วยต้องลงจอดที่สถานีตำรวจท้องที่นอกบริเวณโรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 ข้อนี้แม้จะมีนายแพทย์เอกพงศ์ ที่เดินทางไปกับรถพยาบาลในฐานะแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน กับนางสาวนาฎกมล เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาคุณภาพประจำโรงพยาบาลจำเลยที่ 1 มาเบิกความสนับสนุน แต่ไม่มีรายละเอียดถึงข้อจำกัดเหล่านั้น นับว่าเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นเช่นนั้นตามภาระการพิสูจน์ ได้ความจากโจทก์ว่าญาติของโจทก์ขอให้เคลื่อนย้ายทางเฮลิคอปเตอร์ที่จำเลยที่ 1 จัดให้บริการที่เรียกว่า SKY ICU ซึ่งเป็นของบริษัท EUROCOPTER รุ่น EC 145 แต่จำเลยที่ 1 แจ้งว่าเฮลิคอปเตอร์ไม่ว่างและไม่สามารถบินกลางคืนได้เพราะสภาพอากาศไม่ดีจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายโจทก์ด้วยรถพยาบาล เฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวติดตั้งอุปกรณ์การแพทย์ชั้นสูงนำมาให้บริการแก่ผู้ป่วยที่ต้องการความเร่งด่วนในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย มีสมรรถนะสูง มีอุปกรณ์ทันสมัยสามารถบินกลางคืนได้ มีอุปกรณ์เตือนสภาพอากาศ ทิศทาง และความเร็วลมช่วยในการบินฝ่าสภาพอากาศเลวร้าย จำเลยที่ 1 มิได้ถามค้านโจทก์เพื่อหักล้างสมรรถนะของเฮลิคอปเตอร์ดังที่โจทก์เบิกความ คดีย่อมฟังได้ว่าเฮลิคอปเตอร์ที่จำเลยที่ 1 ให้บริการรับส่งผู้ป่วยทางอากาศว่ามิได้มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถบินในเวลากลางคืนได้ นายแพทย์ต่อพล แพทย์ประจำโรงพยาบาลศิริราช พยานจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ตามที่ได้รับอนุญาตจากศาลว่าการทำบายพาสโดยปกติต้องทำโดยเร่งด่วนให้ได้ภายใน 6 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เนื้อเยื่อหรือกล้ามเนื้อได้รับความเสียหาย ข้อนี้ได้ความจากนายแพทย์เอกพงศ์ ถึงการเคลื่อนย้ายโจทก์ว่าได้รับความยินยอมจากมารดาของโจทก์ เมื่อเวลา 22 นาฬิกา และสามารถเคลื่อนย้ายโจทก์ด้วยรถพยาบาลเมื่อเวลา 3 นาฬิกา ของวันที่ 12 กำหนดถึงโรงพยาบาล ก. ซอยศูนย์วิจัย กรุงเทพมหานคร เวลาประมาณ 15 นาฬิกา เท่ากับใช้เวลาก่อนออกเดินทาง 5 ชั่วโมง กำหนดใช้เวลาเดินทางถึงโรงพยาบาล ก. ซอยศูนย์วิจัย กรุงเทพมหานคร 12 ชั่วโมง นางสาวนาฎกมล กล่าวถึงคำโฆษณาประชาสัมพันธ์ของจำเลยที่ 1 ว่าโรงพยาบาลมีบริการรับส่งผู้ป่วยทางอากาศ (Air Ambulance) ข้อนี้ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใช้บริการนี้จำนวนมากราย ชอบที่จำเลยที่ 1 จะนำหลักฐานการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยเฮลิคอปเตอร์มาแสดงต่อศาลได้ว่าไม่มีคิวว่างที่จะเคลื่อนย้ายโจทก์ในวันนั้นจริง หรือมีการล็อกลำดับการใช้บริการในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยรายอื่นไว้ก่อนแล้ว คำโฆษณาประชาสัมพันธ์ของจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้โจทก์เชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีบริการเช่นนั้นจริง การบอกปัดไม่ส่งโจทก์ไปรักษาต่อด้วยเฮลิคอปเตอร์ต้องชอบด้วยเหตุผล ในกรณีของโจทก์ที่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายไปผ่าตัดบายพาสที่โรงพยาบาล ก. ซอยศูนย์วิจัย กรุงเทพมหานคร ตามคำแนะนำของนายแพทย์กมล แพทย์หลอดเลือดอาวุโส จำเลยที่ 1 ย่อมตระหนักดีว่าระยะเวลาในการเคลื่อนย้ายโจทก์เป็นข้อสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างทันท่วงที การเคลื่อนย้ายด้วยรถพยาบาลที่ต้องใช้เวลาดังกล่าวย่อมไม่สอดคล้องกับคำแนะนำ และไม่เป็นผลดีต่อการรักษาอาการของโจทก์เป็นการเลือกใช้วิธีเคลื่อนย้ายโจทก์ไปรักษาที่ไม่เหมาะสมแก่โจทก์ในสภาวการณ์เช่นนั้น คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้ความพยายามตามวิธีการและมาตรฐานในการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียในการรักษาและเคลื่อนย้ายโจทก์ตามสถานการณ์และอาการบาดเจ็บของโจทก์ในขณะนั้น ส่วนที่มารดาของโจทก์ประสงค์ให้ส่งโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร อาจเป็นเหตุผลในการไว้วางใจและเชื่อถือการรักษาพยาบาล ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็เห็นว่าโรงพยาบาลดังกล่าวเป็นโรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่มีความพร้อมและทีมแพทย์พยาบาลและอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์และมีประวัติการรักษาของโจทก์จากโรงพยาบาลจำเลยที่ 1 ส่งพร้อมไปด้วย ทั้งเป็นสิทธิของผู้ป่วยในการเปลี่ยนสถานพยาบาลเช่นนี้ คดีไม่มีเหตุผลถึงขนาดที่จะชี้ว่าการที่โจทก์ต้องถูกตัดขาเป็นเพราะโจทก์ยอมรับความเสี่ยงภัยในการตัดสินใจย้ายโรงพยาบาลกะทันหันในภาวะเช่นนั้น แต่เพราะเป็นผลสืบเนื่องมาจากการส่งตัวโจทก์ไปรักษาที่ล่าช้าเนิ่นนานเกินไป อันแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์เช่นโรงพยาบาลผู้มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งอาจใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้แต่หาใช้ให้เพียงพอไม่ นับเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ในการดูแลรักษาโจทก์และเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด ข้อนี้ความปรากฏตามฟ้องข้อ 4 ถึงค่าเสียหายที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิด คือ (1) จำเลยที่ 1 ส่งโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีล่าช้าเป็นเหตุให้โจทก์ต้องถูกตัดขา ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่ารถพยาบาล 70,000 บาท เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้เคลื่อนย้ายโจทก์ด้วยเฮลิคอปเตอร์ แต่การเคลื่อนย้ายด้วยรถพยาบาลย่อมมีค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเป็นผู้ชำระเมื่อใช้บริการ ค่ารักษาพยาบาลก็เช่นกันซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์เอง จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และ (2) ค่าเสียหายจากการทุกข์ทรมานและไม่สามารถเข้าร่วมเป็นตัวแทนทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันระดับประเทศและต่างประเทศ ขาดโอกาสสร้างชื่อเสียง สูญเสียโอกาสในการทำงานและสร้างรายได้ เพราะโจทก์เป็นนักกีฬาอาชีพ เป็นผู้รับจ้างฝึกสอนเยาวชน ได้รับค่าจ้างชั่วโมงละ 2,000 บาท ต่อคน อย่างต่ำวันละ 3 ชั่วโมง จะมีรายได้อย่างต่ำวันละ 6,000 บาท คิดค่าเสียหาย 50,000,000 บาท เห็นว่า แม้การที่โจทก์ต้องถูกตัดขาซ้ายเนื่องมาจากการส่งโจทก์ไปรักษาที่ล่าช้าและการเลือกใช้วิธีเคลื่อนย้ายที่ไม่สอดคล้องกับคำแนะนำการรักษาโจทก์ แต่ที่มารดาของโจทก์ประสงค์ให้ส่งโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร นับเป็นเหตุแทรกแซงที่ทำให้ระยะเวลาที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายโจทก์เนิ่นช้าออกไปกว่าเดิมซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการรักษา และการตัดสินใจย้ายโรงพยาบาลกะทันหันในภาวะเช่นนั้นนับว่ามีผลกระทบต่อแผนการรักษาเช่นกัน โดยได้ความว่ารถพยาบาลของจำเลยที่ 1 ไปส่งโจทก์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเมื่อเวลา 16 นาฬิกา แต่แพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดีผ่าตัดโจทก์เมื่อเวลาภายหลัง 22 นาฬิกา อาการบาดเจ็บของโจทก์เป็นผลสืบเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่โจทก์เข้าร่วมแข่งขันกีฬาเวคบอร์ด โจทก์อายุ 26 ปี เป็นนักกีฬาทีมชาติไทย ขณะเกิดเหตุบริษัท อ. ว่าจ้างเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนและการตลาดฝ่ายอุปกรณ์ อัตราเงินเดือน เดือนละ 60,000 บาท ภายหลังเกิดอุบัติเหตุและถูกตัดขาเป็นเหตุให้บริษัทเลิกจ้างโจทก์ ได้ความจากโจทก์ตอบถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 ตามที่ได้รับอนุญาตจากศาลว่ากีฬาที่โจทก์เล่นหรือเอ็กซ์ตรีมประเภทเวคบอร์ดนั้น เป็นกีฬาที่มีความเสี่ยงสูง มีความท้าทายและอันตราย การเข้าไปเป็นนักกีฬาทีมชาติมีการแข่งขันสูง และตอบถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ตามที่ได้รับอนุญาตจากศาลว่าผู้ที่เล่นเวคบอร์ดส่วนใหญ่จะมีอายุเฉลี่ย 20 ถึง 30 ปี อีกประการหนึ่งที่โจทก์รับจ้างเป็นครูสอนนั้นอยู่ในงานของบริษัท อ. (บริษัทบอร์ดสกี) เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ 5,000,000 บาท ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ที่โจทก์ขอดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าเสียหายซึ่งถือเป็นหนี้เงิน เมื่อมีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัด ปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยน โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 พฤษภาคม 2560) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และให้ปรับดอกเบี้ยตามอัตราที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยส่วนที่โจทก์ได้รับยกเว้นนั้นให้จำเลยที่ 1 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกาโดยกำหนดค่าทนายความรวม 80,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8