โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2538 จำเลยที่ 1กู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 1,500,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ตกลงผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนโจทก์เป็นรายเดือน อย่างน้อยเดือนละ 37,000 บาท ภายในวันที่ 29 ของทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 29 กันยายน 2538เป็นต้นไป ทั้งนี้ต้องชำระให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 60 เดือนหากผิดนัดยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี และยินยอมชดใช้ค่าเสียหายอัตราร้อยละ 5 ของหนี้ที่ค้างชำระโดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม นอกจากนี้จำเลยที่ 2ยังจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 579 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ทุกชนิดทุกประเภทที่จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์อยู่ในเวลานี้และในเวลาใดเวลาหนึ่งต่อไปในภายหน้าในวงเงิน 4,000,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่า หากโจทก์บังคับจำนองแล้วได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 2 ยอมชำระส่วนที่ขาดอยู่แก่โจทก์จนครบถ้วน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 1,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1ออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 1 กันยายน 2538 สัญญาว่าจะใช้เงินจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์เมื่อโจทก์ทวงถามพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ออกตั๋วตกลงชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นรายเดือน เริ่มชำระครั้งแรกในวันที่ 30 กันยายน2538 งวดต่อไปชำระทุกวันสิ้นเดือนโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงิน 2,500,000บาท และเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 1,500,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 12 กันยายน 2538 สัญญาว่าจะใช้เงินจำนวน 1,500,000บาท แก่โจทก์เมื่อทวงถามพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปีตกลงจะชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เดือนละครั้งเริ่มชำระครั้งแรกในวันที่ 30 กันยายน 2538 ครั้งต่อไปชำระทุกวันสิ้นเดือนภายหลังทำสัญญา จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์เพียงบางส่วนโจทก์จึงมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 1 และมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,476,578.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี จากต้นเงิน 3,875,031 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 579 พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยกู้ยืมเงินและไม่เคยออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องให้ไว้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2ไม่เคยค้ำประกันและไม่เคยจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน4,407,826.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีจากต้นเงิน 3,875,031 บาท นับตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน2540 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดจำนวน 2,742,559.82 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 579 ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภีจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนคำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2538 จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 1,500,000 บาทยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ตกลงชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนโจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 37,000 บาททุกวันที่ 29 ของเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 29 กันยายน 2538กำหนดชำระให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 60 เดือน หากผิดนัดยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญากู้ยืมและสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.7 และ จ.9 ในวันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 579 ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 4,000,000 บาท ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.10 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1กู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 1,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1ทำบันทึกข้อตกลงและออกตั๋วสัญญาใช้เงินสัญญาว่าจะใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 1,000,000 บาท เมื่อทวงถาม หากผิดนัดยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามบันทึกข้อตกลงตั๋วสัญญาใช้เงิน และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.12 จ.14และ จ.15 และเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 1,500,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงและออกตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาว่าจะใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 1,500,000 บาท เมื่อทวงถามหากผิดนัดยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ตามบันทึกข้อตกลงและตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 ภายหลังทำสัญญา จำเลยที่ 1ชำระหนี้แก่โจทก์เพียงบางส่วน โจทก์จึงทวงถามจำเลยที่ 1 และบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองได้รับแล้วเพิกเฉย ตามเอกสารหมาย จ.22 ถึง จ.25 ยอดหนี้คำนวณเพียงวันฟ้องโดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ตามสัญญากู้ฉบับแรกคิดเป็นต้นเงิน 1,375,031 บาท ดอกเบี้ย 215,446.63บาท ยอดหนี้ตามสัญญากู้ฉบับที่ 2 คิดเป็นต้นเงิน 1,000,000บาท ดอกเบี้ย 152,082.19 บาท ยอดหนี้ตามสัญญากู้ฉบับที่ 3คิดเป็นต้นเงิน 1,500,000 บาท ดอกเบี้ย 165,267.12 บาทรวมยอดหนี้ตามสัญญากู้ทั้งสามฉบับเป็นเงินทั้งสิ้น 4,476,578.49บาท
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า การที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์ในครั้งที่ 3เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2538 จำนวน 1,500,000 บาท นั้น จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ เห็นว่า ในวันเดียวกับที่จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ฉบับแรก เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2538จำนวนเงิน 1,500,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.7นั้น จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ร่วม ตามเอกสารหมาย จ.9และทำหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1เอกสารหมาย จ.10 ซึ่งในสัญญาจำนองข้อ 1 มีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งแปลงแก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้สินทุกชนิดของจำเลยทั้งสองที่มีต่อโจทก์ทั้งในเวลานี้และต่อไปในภายหน้าทั้งสิ้น เป็นจำนวนเงิน4,000,000 บาท และในหนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกัน เอกสารหมาย จ.11 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจำนอง ข้อ 1 ก็ระบุว่าจำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่จะมีขึ้นอีกในภายหน้าทั้งสิ้นแก่โจทก์ และโจทก์ตกลงรับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไว้เพื่อเป็นประกันหนี้สินทุกชนิดทุกประเภทที่จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์อยู่ในเวลานี้และในเวลาใดเวลาหนึ่งต่อไป ในภายหน้าเป็นเงินจำนวน4,000,000 บาท นอกจากนี้ในวันเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.12 นั้นจำเลยที่ 2 ยังทำหนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ร่วมด้วยตามเอกสารหมาย จ.15ซึ่งในสัญญาค้ำประกันข้อ 1 มีข้อความระบุว่า ตามที่โจทก์ได้ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์หรือได้นำตั๋วเงินซึ่งสั่งจ่ายโดยจำเลยที่ 1 เองหรือสั่งจ่ายโดยบุคคลอื่นใดก็ตามไปขายลดหรือแลกเงินไปจากโจทก์เป็นครั้งคราวซึ่งเป็นหนี้โจทก์อยู่ในเวลานี้และในเวลาใดเวลาหนึ่งต่อไปในภายหน้าในจำนวนเงิน2,500,000 บาท ดังนี้ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันและจำนองที่ดินเป็นประกันดังกล่าวนั้นค้ำประกันรวมถึงหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 1 ด้วย เพราะจำนองเป็นวงเงิน 4,000,000บาท และค้ำประกันทั้ง 2 ครั้ง ก็เป็นเงิน 4,000,000 บาท เช่นกันซึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมไปจากโจทก์ทั้ง 3 ครั้งแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองและทำหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.15 ให้ไว้แก่โจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะกู้ยืมเงินโจทก์ครั้งที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.16ก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681วรรคสอง บัญญัติว่าหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริง ก็ประกันได้และมาตรา 707 บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้น ท่านให้ใช้ได้ในการจำนอง อนุโลมตามควร ดังนั้น แม้ว่าสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ทำไว้ก่อนแต่ก็สามารถค้ำประกันหนี้การกู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานในอนาคตได้ จำเลยที่ 2จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ที่เกิดจากการผู้ยืมเงินครั้งที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.16 ด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ชำระเงินจำนวน 4,407,826.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18ต่อปี จากต้นเงิน 3,875,031 บาท นับตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน2540 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น