โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และนับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 431/2560 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 552/2560 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 553/2560 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา โจทก์แถลงว่า จำเลยชำระหนี้ตามเช็คฉบับที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 7 (ที่ถูกคือเช็คฉบับที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7) ตามฟ้องให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่ติดใจจะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยตามเช็คฉบับที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 7 (ที่ถูกคือเช็คฉบับที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7) ขอถอนฟ้องจำเลยตามเช็คทั้งห้าฉบับดังกล่าว ศาลชั้นต้นอนุญาต สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในส่วนของเช็คฉบับที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 7 (ที่ถูกคือเช็คฉบับที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7) จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน นับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 553/2560 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 431/2560 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 552/2560 ของศาลชั้นต้นนั้น เนื่องจากไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาแล้ว คำขอในส่วนนี้จึงให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า กรณีมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็ค 7 ฉบับ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์รวมเป็นเงิน 10,384,125 บาท โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับแรกได้เพียงฉบับเดียว ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น จำเลยนำเงินมาชำระหนี้ตามเช็คหลายครั้ง โจทก์นำไปหักชำระหนี้ตามเช็คฉบับที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7 และบางส่วนของเช็คฉบับที่ 3 ซึ่งโจทก์และจำเลยยอมรับตรงกันว่ามีหนี้ค้างชำระตามเช็คฉบับที่ 3 เป็นเงิน 6,084,125 บาท โจทก์ถอนฟ้องจำเลยตามเช็คฉบับที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7 แล้ว ระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ จำเลยนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์อีก 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,384,125 บาท และระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกา จำเลยนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 3,000,000 บาท คงเหลือหนี้ตามเช็คในคดีนี้เพียง 1,700,000 บาท นอกจากนี้ยังได้ความจากคำร้องของโจทก์และฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค 4 คดี คิดเป็นเงินตามเช็ครวมทั้งสิ้น 63,096,625 บาท จำเลยนำเงินมาชำระหนี้ตามเช็คทั้งสี่คดีเป็นเงิน 54,584,125 บาทแล้ว จึงเหลือหนี้ที่ค้างชำระทั้งสิ้นเพียง 8,512,500 บาท เมื่อพิจารณาจำนวนเงินที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งสี่คดีเปรียบเทียบกับจำนวนเงินที่จำเลยนำมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ นับว่าจำนวนเงินที่จำเลยนำมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นสัดส่วนมากกว่าหนี้ที่คงเหลือเป็นอันมาก และต่อมาในระหว่างฎีกาจำเลยนำเงินต้นส่วนที่ต้องชำระอีก 1,700,000 บาท มาวางต่อศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่มิได้นำดอกเบี้ยในหนี้เงินต้นดังกล่าวมาชำระให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์แถลงต่อศาลว่าโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยชำระดอกเบี้ยดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 28 มีนาคม 2565 กรณีถือได้ว่าจำเลยยังมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนสิ้นเชิง จึงไม่มีผลให้หนี้ดังกล่าวสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ดังนั้นจึงถือไม่ได้ว่าคดีเลิกกัน จากพฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าจำเลยขวนขวายนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์เรื่อยมา แสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้สำนึกในการกระทำความผิดของตนและพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นให้แก่โจทก์อย่างเต็มความสามารถแล้ว ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กรณีเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำไม่กลับมากระทำความผิดซ้ำ เห็นควรให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 553/2560 ของศาลชั้นต้น แต่ปรากฏว่าระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว คดีถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงไม่อาจนับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาดังกล่าวได้ แต่ศาลอุทธรณ์มิได้ยกคำขอให้นับโทษต่อจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหานี้ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาบังคับใช้ในศาลจังหวัด พ.ศ. 2550 มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 30,000 บาท อีกสถานหนึ่งลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 15,000 บาท เมื่อรวมกับโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นจำคุก 3 เดือน และปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกคำขอนับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 553/2560 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์