โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 937,497.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในเงินต้น 904,956.65 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยยกเลิกคำสั่งที่ให้หักเงินต่างๆ เสีย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าตอบแทน 12,520 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 พฤศจิกายน 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินเดือน การเลื่อนขั้นเงินเดือน โบนัส และสวัสดิการต่างๆ ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 9 และมาตรา 11 เป็นเพียงบทบัญญัติกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติเพื่อให้รัฐวิสาหกิจถือเป็นแนวเดียวกันเท่านั้น มิได้หมายความว่าเมื่อพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใดขาดคุณสมบัติ หรือมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว การจ้างเป็นอันระงับไปในตัวทันที รัฐวิสาหกิจจะต้องดำเนินการให้พนักงานผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปด้วย การจ้างจึงจะระงับ ดังนั้น แม้โจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 9 เมษายน 2538 ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติเนื่องจากเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2538 แต่จำเลยก็ยังมิได้ดำเนินการให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง จำเลยเพิ่งมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2540 การจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงระงับไปในวันที่ 30 กันยายน 2540 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินเดือนและเงินสวัสดิการต่างๆ ที่เคยได้รับตลอดจนการปรับขึ้นเงินเดือนจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2540 และต้องถือว่าโจทก์มีอายุการทำงานจนถึงวันดังกล่าว จำเลยจึงไม่อาจนำเงินเนื่องจากการเลื่อนขึ้นเงินเดือนและเงินเพิ่มพิเศษสำหรับพนักงานสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลนซึ่งโจทก์ได้รับไปในปีงบประมาณ 2539 ถึง 2540 กับเงินค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ได้รับไปเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540 และเงินโบนัสประจำปี 2539 มาหักออกจากเงินสงเคราะห์และเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ได้ ทั้งจำเลยยังจะต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับพนักงานสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลนประจำเดือนกันยายน 2540 และเงินเดือน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2540 ตามส่วนที่โจทก์ยังมีสิทธิอีก 18.5 วัน ให้โจทก์ด้วย และต้องถือเงินเดือนที่โจทก์ได้รับในวันที่ 30 กันยายน 2540 เป็นเงินเดือนค่าจ้างสุดท้ายในการคำนวณเงินสงเคราะห์ เงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าจ้างค้างจ่าย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่ 30 กันยายน 2540 โจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนละ 52,900 บาท ยังไม่เต็มอัตราขั้นสูงสุดของตำแหน่งที่โจทก์ดำรงอยู่ เมื่อปรับขึ้นอีก 1 ขั้น จะเป็นเดือนละ 55,920 บาท และในการคำนวณเงินสงเคราะห์และเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานนั้น จำเลยจะต้องปรับเพิ่มจากเงินเดือนค่าจ้างสุดท้ายอีก 1 ขั้นก่อน แล้วจึงจะนำมาเป็นฐานคำนวณ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับเงินเดือนที่ปรับเพิ่มจากเงินเดือนค่าจ้างสุดท้าย 1 ขั้นแล้วคูณด้วยอายุการทำงาน 18 ปี จึงเป็นเงิน 1,006,560 บาท เงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างสุดท้ายที่ปรับเพิ่มแล้ว 180 วัน เป็นเงิน 335,520 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างสุดท้าย 18.5 วัน เป็นเงิน 32,921.67 บาท ค่าจ้างค้างจ่าย 8 วัน เป็นเงิน 14,106 บาท และเงินเพิ่มพิเศษสำหรับพนักงานสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลนประจำเดือนกันยายน 2540 อีก 4,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,392,807.67 บาท จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ในวันที่ 30 กันยายน 2540 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้าง แต่จำเลยไม่ชำระ ตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อคิดถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 อันเป็นวันที่จำเลยชำระเงินให้โจทก์ 764,600 บาท จะได้ค่าดอกเบี้ย 276,175.80 บาท จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระไปหักเป็นค่าดอกเบี้ยดังกล่าวก่อน ส่วนที่เหลือจึงหักชำระเงินต้น จึงยังเหลือเงินต้นที่จำเลยค้างชำระจำนวน 904,383.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 904,373.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก