โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 137, 267, 91 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 พระราชบัญญัติประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ลงโทษจำคุก 6 เดือน ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ลงโทษจำคุก 2 ปี รวมจำคุก 2 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ 2 (ก) เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 (ที่ถูก มาตรา 50 วรรคสอง) ซึ่งเป็นความผิดสำเร็จในวันดังกล่าวแล้วกรรมหนึ่ง ตามฟ้องข้อ 2 (ข) เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 และพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกรรมเดียวกันต้องลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) และตามฟ้องขอ 2 (ค) เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (3) ซึ่งตามมาตรา 14 วรรคสอง ให้ลงโทษตาม (3) แต่กระทงเดียว กรณีไม่อาจลงโทษจำเลยตามฟ้องเพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) และ (3) วรรคสองอีกด้วยการกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ 2 (ข) (ค) ลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติบัตรประชาชน จำคุก 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า...ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อที่สองมีว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 และพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 2 (ก) ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 ฟ้องข้อ 2 (ข) ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 และพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ฟ้องข้อ 2 (ค) ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (3) โดยมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตามกฎหมายและบทมาตราดังกล่าวด้วย จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องทุกข้อหาแต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 เท่านั้น จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสองการปรับบทลงโทษจำเลยเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มีอำนาจพิพากษาปรับบทลงโทษครบถ้วนและถูกต้อง โดยมิได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.