โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 119,316 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 100,327.12 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 119,316 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 100,327.12 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด โจทก์มอบอำนาจให้นายกฤษฎิ์ ฟ้องและดำเนินคดีแทน วันที่ 14 สิงหาคม 2558 จำเลยสมัครและทำสัญญาสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อกู้ยืมเงิน โจทก์ตกลงอนุมัติวงเงินกู้สินเชื่อแบบหมุนเวียนให้และมอบบัตรกดเงินสดประกอบรหัสประจำบัตรให้จำเลยใช้เบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินสดอัตโนมัติ จำเลยนำบัตรกดเงินสดไปเบิกถอนเงินสดและชำระหนี้ให้โจทก์หลายครั้ง จำเลยเบิกถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559 จำนวน 6,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยผิดนัดโดยชำระค่างวดเพียงบางส่วนไม่ตรงตามจำนวนและกำหนดระยะเวลาในสัญญา ครั้งสุดท้ายชำระวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 จำนวน 3,090 บาท แล้วไม่ชำระอีก ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 จำเลยมีหนี้ค้างชำระต้นเงิน 100,327.12 บาท ดอกเบี้ย 9,529.77 บาท ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน 8,259.13 บาท ค่าปรับชำระหนี้ล่าช้าและหรือค่าติดตามทวงถาม 1,200 บาท โจทก์ส่งหนังสือเตือนให้จำเลยชำระหนี้คืนเงินกู้ทั้งหมดไปยังที่อยู่ตามสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่จำเลยใช้ในการสมัคร และมีผู้รับแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า การส่งคำบอกกล่าวไปยังที่อยู่ตามสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่แนบกับใบสมัครสินเชื่อบุคคลนอกจากที่ระบุไว้ในใบสมัครชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาสินเชื่อหมุนเวียนในใบสมัคร/สัญญาสินเชื่อหมุนเวียน ข้อ 9 ที่ระบุว่า "ผู้ให้กู้จะส่งคำบอกกล่าวตามกฎหมายหรือตามสัญญากำหนดให้ต้องแจ้งหรือบอกกล่าวเป็นหนังสือโดยการส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้แก่ผู้กู้ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในสัญญาหรือที่อยู่ที่ผู้กู้ที่ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือครั้งหลังสุด..." เป็นกรณีที่โจทก์ได้กำหนดขึ้นเพื่อปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ข้อ 4.7 ที่ว่า "เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจน ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติดังต่อไปนี้ (4) ต้องมีหนังสือแจ้งเตือนผู้บริโภคที่ผิดนัดชำระหนี้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วัน ก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมาย" ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2549 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 เป็นต้นไป ซึ่งตามข้อ 1 ได้ระบุเหตุผลในการออกประกาศว่าเพื่อเป็นการพิทักษ์รักษาประโยชน์ของประชาชน ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตลอดจนให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันและเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคยิ่งขึ้น ข้อกำหนดดังกล่าวจึงกำหนดขึ้นเพื่อบังคับให้โจทก์ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามก่อนที่จะบังคับชำระหนี้กับจำเลยอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อปรากฏว่า จำเลยได้ระบุไว้ในใบสมัคร/สัญญาสินเชื่อหมุนเวียนว่า ให้โจทก์ส่งหนังสือไปยังที่ทำงานตามที่ระบุไว้ในใบสมัคร คือ สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด จึงต้องถือว่าที่ทำงานของจำเลยเป็นภูมิลำเนาที่จำเลยเลือกไว้เป็นการเฉพาะการนี้ การที่โจทก์ส่งหนังสือเตือนให้ชำระหนี้ไปยังที่อยู่เลขที่ 81 ซึ่งเป็นที่อยู่ตามสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่จำเลยใช้ประกอบการยื่นใบสมัคร แม้จะมีผู้รับแทนที่ระบุว่าเป็นหลาน แต่เมื่อโจทก์มิได้มีหนังสือไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการของจำเลยดังกล่าวหรือที่อยู่จำเลยขณะทำสัญญาสินเชื่อหมุนเวียน เลขที่ 338/2 ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ส่งหนังสือเตือนให้ชำระหนี้ไปยังเลขที่ 180/19 ซึ่งเป็นที่อยู่ของจำเลยขณะโจทก์มีหนังสือเตือนให้ชำระหนี้และขณะฟ้อง ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรแนบท้ายคำแถลงขอปิดหมายของโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทราบการเตือนให้ชำระหนี้จากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ที่อยู่ตามสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยเป็นที่อยู่ที่จำเลยระบุไว้ในใบสมัครด้วยและถือว่าโจทก์ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนขอให้ชำระหนี้ไปยังจำเลยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วันแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ให้ถูกต้องภายในกำหนดอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ