โจทก์ฟ้องว่า จำเลยยักยอกทรัพย์ของทางราชการกรมตำรวจ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่จัดการรักษาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตคิดเป็นเงิน 17,054.93 บาท ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131 แก้ไขโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2484 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 147 และให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์
จำเลยรับสารภาพ
คู่ความแถลงไม่สืบพยาน
ศาลอาญาพิพากษาว่า จำเลยผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131 แก้ไขโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2484 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 147 แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ประกอบด้วยมาตรา 3ซึ่งเป็นคุณจำคุก 5 ปี รับลดกึ่งตามมาตรา 78 คงเหลือ 2 ปี 6 เดือน และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่เจ้าทรัพย์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์กล่าวหาจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 131 ซึ่งมีอัตราโทษอย่างต่ำกำหนดให้เพียง 1 ปี เท่านั้นไม่จำต้องสืบพยานประกอบคำรับก็ฟังคำรับสารภาพของจำเลยลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อที่จำเลยฎีกาคัดค้านว่า ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131 มีโทษ 2 สถาน คือจำคุกตลอดชีวิตสถานหนึ่งหรือตั้งแต่ 1 ปีถึง 20 ปี อีกสถานหนึ่ง โทษตลอดชีวิตไม่มีโทษขั้นต่ำ จำต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 176 เดิมบัญญัติถึงกรณีที่จะต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ให้ถือเกณฑ์อัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป แต่ที่ได้แก้ไขโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2499 มาตรา 11 ได้เปลี่ยนหลักเดิมเป็นถือเกณฑ์อัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น จึงเป็นอันว่าอัตราโทษอย่างสูงที่กฎหมายกำหนดในความผิดไม่เป็นข้อสำคัญ แม้กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131 ที่แก้ไข ซึ่งใช้อยู่ในขณะจำเลยกระทำผิดกำหนดอัตราโทษให้จำคุกตลอดชีวิตหรือตั้งแต่ 1 ปีถึง 20 ปีก็ดี กำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตถึงจะเป็นโทษจำคุกหนักกว่า 5 ปี แต่ก็เป็นอัตราอย่างสูงในมาตรา 131 ดังกล่าว หาใช่อัตราโทษอย่างต่ำไม่ เพราะอาจลงโทษจำคุกต่ำกว่าตลอดชีวิตก็ได้ อัตราโทษอย่างต่ำ 1 ปี จึงไม่อยู่ในเกณฑ์บังคับให้จำต้องสืบพยานประกอบ ศาลอาจพิพากษาโดยไม่สืบพยานต่อไปก็ได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย
จำเลยฎีกาอีกว่า โจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีออกใช้ คงมีแต่ พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญาท้าย พระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้นศาลฎีกาเห็นว่า ที่โจทก์เรียกว่าประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ก็พอเข้าใจได้ว่าหมายความถึงประมวลกฎหมายอาญาซึ่งได้ประกาศใช้โดย พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 นั่นเอง
กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2484 มาตรา 3 และ พระราชบัญญัติอนุมัติให้ใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2484ซึ่งใช้อยู่ในขณะที่จำเลยทำผิด กำหนดอัตราโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือตั้งแต่ 1 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 500 บาท - 10,000 บาท แต่อัตราโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จำคุกไม่เกิน 10 ปีและปรับไม่เกิน 20,000 บาท ไม่มีอัตราโทษอย่างต่ำ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ให้ใช้ มาตรา 147 ประมวลกฎหมายอาญา เป็นบทลงโทษจำเลย
พิพากษายืน