โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 288, 289, 309, 340, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และมีดปลายแหลมของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธแต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 309 วรรคสอง, 340 วรรคสอง วรรคท้าย, 340 ตรี, 371, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธมีดปลายแหลมติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น และร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย อันเป็นบทหนักตามมาตรา 90 ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสาม ฐานร่วมกันทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ จำคุกคนละ 2 ปี และฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย จำคุกคนละ 12 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 3 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธมีดปลายแหลมติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร จำคุกคนละ 3 เดือน ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุกจำเลยทั้งสามตลอดชีวิต ฐานร่วมกันทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ จำคุกคนละ 1 ปี และฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย จำคุกคนละ 6 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงให้จำคุกจำเลยทั้งสามตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ริบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และมีดปลายแหลมของกลาง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย ส่วนความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควรเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ให้ลงโทษฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควรตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 เดือน และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก ฐานชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย จำคุก 6 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกกระทงอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสามตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย "ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสามไม่โต้แย้งคัดค้านกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2546 เวลาประมาณ 24 นาฬิกา สิบเอกทวีพงษ์ ขับรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน กข 2839 บุรีรัมย์ พานางสาวดวงเดือน ไปเที่ยวที่อ่างเก็บน้ำห้วยยางอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา และพูดคุยกันจนถึงเวลา 1.30 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ได้มีจำเลยทั้งสามเข้ามาใช้อาวุธปืนและอาวุธมีดขู่บังคับบุคคลทั้งสอง แล้วจำเลยทั้งสามขึ้นรถยนต์ไปด้วย โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นคนขับ ในระหว่างทางสิบเอกทวีพงษ์หลบหนีไปได้ จำเลยทั้งสามขับรถยนต์พานางสาวดวงเดือนไปที่สวนแห่งหนึ่งในอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก จำเลยที่ 1 โทรศัพท์แจ้งให้นายขวัญยืน เลาหสวัสดิ์ ผู้ตายไปพบที่สวนดังกล่าว ต่อมาเวลาประมาณ 12 นาฬิกา ผู้ตายขับรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน มาที่สวนพร้อมกับนางอารยา ผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 บอกให้ผู้ตายขับรถยนต์ตามรถยนต์เก๋งไปได้ประมาณ 1 กิโลเมตร จำเลยทั้งสามและผู้ตายลงจากรถไปคุยกัน จากนั้นจำเลยที่ 1 ก็ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย 2 นัด กระสุนปืนถูกผู้ตายที่บริเวณขมับซ้ายและหน้าอกด้านขวา เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 ใช้เชือกมัดมือผู้เสียหายไพล่หลังพาไปนั่งรถยนต์เก๋งที่มีนางสาวดวงเดือนนั่งอยู่ด้วย แล้วจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์เก๋งออกไป โดยจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะของผู้ตายตามไปด้วยกัน ในระหว่างทางจำเลยที่ 1 ปล่อยผู้เสียหาย โดยให้เงินเป็นค่ารถ 500 บาท แต่ได้เอากำไลข้อมือทองคำ 1 วง ของผู้เสียหายไว้ ต่อมาจำเลยทั้งสามฝากรถยนต์เก๋งไว้ที่สถานที่รับจ้างล้างรถ แล้วขับรถยนต์กระบะของผู้ตายไปกับนางสาวดวงเดือนกลับไปทางจังหวัดนครราชสีมา เมื่อรถยนต์กระบะแล่นมาถึงถนนสายสระบุรี - หินกอง ในเขตจังหวัดสระบุรี มีรถยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงขับปาดหน้าให้รถยนต์กระบะดังกล่าวหยุดและจับกุมจำเลยทั้งสามได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และไม่มีเหตุสมควรกับความผิดฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรเป็นความผิดกรรมเดียวกันหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 บัญญัติว่า "ผู้ใดพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร หรือพาไปในชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริงหรือการอื่นใด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท ฯลฯ" และตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ฯลฯ" และมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง บัญญัติว่ "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฯลฯ" ดังนั้น การพาอาวุธใด ๆ ไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร จะต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 แต่หากเป็นการพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือโดยไม่มีเหตุสมควร จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง อีกบทหนึ่งซึ่งมีโทษหนักกว่าการพาอาวุธทั่ว ๆ ไป ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่า กฎหมายบัญญัติความผิดและบทลงโทษแยกไว้สำหรับกรณีพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือโดยไม่มีเหตุสมควรเป็นอีกความผิดหนึ่ง ทั้งวัตถุของกลางก็เป็นคนละประเภทกัน แสดงว่าเจตนาในการพาไปแตกต่างกัน และความผิดแต่ละประเภทสำเร็จแล้วนับตั้งแต่พาเข้าไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ดังนั้นแม้จำเลยทั้งสามจะร่วมกันพาอาวุธปืนและอาวุธมีดไปในเวลาเดียวกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์กำไลข้อมือทองคำของผู้เสียหายไปหรือไม่ โจทก์มีนางอารยา ผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ยิงผู้ตาย 3 นัด แล้ว จำเลยที่ 3 นำเชือกมามัดมือพยานไพล่หลังแล้วใช้มีดจี้พาไปนั่งในรถยนต์เก๋ง โดยมีจำเลยที่ 2 กับผู้หญิงนั่งอยู่ในรถด้วย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ช่วยกันลากผู้ตายซึ่งขณะนั้นยังไม่ถึงแก่ความตายออกไปไกล เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 กลับมา จำเลยที่ 3 มานั่งประกบพยานอยู่ที่ด้านหลัง ส่วนจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะของผู้ตายตามกันไปตามถนนลูกรัง ระหว่างทางพยานขอร้องจำเลยที่ 3 ว่าอย่าทำอะไรพยาน จำเลยที่ 3 บอกว่าจะพูดคุยกับจำเลยที่ 1 ให้ สักครู่หนึ่งจึงได้จอดรถและจำเลยที่ 3 ลงไปพูดคุยกับจำเลยที่ 1 ขณะนั้นพยานอยู่ในรถกับจำเลยที่ 2 และผู้หญิงอีก 1 คน สักครู่หนึ่งจำเลยที่ 3 เดินกลับมาและพาพยานไปหาจำเลยที่ 1 และพยานเข้าไปนั่งที่เบาะข้างคนขับกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ถามพยานว่าเป็นอะไรกับผู้ตาย พยานบอกว่าเป็นลูกจ้าง และผู้ตายเป็นคนชวนมา จำเลยที่ 1 ถามพยานอีกว่าอยู่กับใคร พยานบอกว่าอยู่กับแม่และลูกอีก 4 คน ต้องทำงานเลี้ยงลูกกับแม่ อย่าทำอะไรพยานเลย สักครู่หนึ่งจำเลยที่ 1 ได้ปล่อยตัวพยาน โดยก่อนปล่อยตัวไปจำเลยที่ 1 พูดว่าให้กลับบ้านไป และทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นอย่าเอาเรื่องไปบอกผู้ใด จำเลยที่ 1 เห็นพยานใส่กำไลข้อมือทองคำจึงขอกำไลข้อมือทองคำจากพยาน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ให้เงินพยาน 500 บาท เป็นค่ารถ และบอกทางให้พยานเดินออกไป โดยก่อนปล่อยตัวจำเลยที่ 1 แก้มัดเชือกให้แก่พยาน หลังจากนั้นพยานเห็นจำเลยที่ 3 ขับรถออกไป ส่วนจำเลยที่ 1 ก็ขับรถยนต์กระบะของผู้ตายไปเช่นกัน เห็นว่า หลังจากจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและปล้นทรัพย์รถยนต์กระบะของผู้ตายได้แล้ว ได้ขับรถยนต์กระบะออกมาจากที่เกิดเหตุ ซึ่งถือว่าความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ย่อมสำเร็จแล้ว และไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดไล่ติดตามจับกุมจำเลยทั้งสาม จนมาถึงระหว่างทางผู้เสียหายพูดขอร้องจำเลยที่ 3 ให้ปล่อยตัว จำเลยที่ 3 หยุดรถพูดคุยกับจำเลยที่ 1 และหลังจากนั้นจำเลยที่ 3 พาผู้เสียหายไปนั่งอยู่ในรถกับจำเลยที่ 1 เพียง 2 คน ส่วนจำเลยที่ 3 กลับมาขับรถยนต์เก๋งซึ่งมีจำเลยที่ 2 และผู้หญิงอีกหนึ่งคนนั่งอยู่ด้วย ขณะที่ผู้เสียหายนั่งอยู่กับจำเลยที่ 1 เพียงลำพัง 2 คน ในรถยนต์กระบะผู้เสียหายพูดขอร้องให้จำเลยที่ 1 ปล่อยตัว จำเลยที่ 1 ยินยอมแต่ก่อนปล่อยตัวไปจำเลยที่ 1 ขอกำไลข้อมือทองคำจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำไปเพียงคนเดียว และมิได้ต่อเนื่องจากการปล้นทรัพย์รถยนต์กระบะของผู้ตาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็นด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์กำไลข้อมือทองคำของผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 คงมีความผิดฐานชิงทรัพย์กำไลข้อมือทองคำของผู้เสียหาย และแม้จะได้ความว่า จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในความผิดฐานปล้นทรัพย์กำไลข้อมือทองคำของผู้เสียหายตามฟ้องดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมารับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันปล้นทรัพย์กำไลข้อมือทองคำของผู้เสียหายตามฟ้อง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสามในข้อหาดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานชิงทรัพย์ กำไลข้อมือทองคำของผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์กำไลข้อมือทองคำของผู้เสียหายนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควรเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรปรับคน 1,000 บาท ลดโทษให้จำเลยทั้งสามกระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร จำคุกคนละ 3 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 50 บาท เมื่อรวมกับโทษจำคุกกระทงอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสามตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) และปรับในความผิดฐานร่างกันพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 50 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2