โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา เด็กหญิง บ. และเด็กชาย ป. โดยนาง น. ผู้แทนโดยชอบธรรม และนาง น. ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสและอันตรายแก่กาย โดยให้เรียกเด็กหญิง บ. เด็กชาย ป. และนาง น. ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี และปรับ 60,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี และปรับ 30,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี ตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ร่วมทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับและไม่รอการลงโทษนอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า โจทก์ร่วมทั้งสามมีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ดาบตำรวจประเสริฐถึงแก่ความตาย โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน กับโจทก์ร่วมที่ 3 ซึ่งภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายที่จะฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยแล้วโจทก์ร่วมทั้งสามยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโดยระบุคำร้องว่า เด็กหญิง บ. และเด็กชาย ป. บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของดาบตำรวจประเสริฐ โดยนาง น. มารดา และนาง น. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของดาบตำรวจประเสริฐจึงเป็นกรณีที่โจทก์ร่วมทั้งสามในฐานะผู้สืบสันดานและภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งเป็นผู้เสียหายและเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ร่วมทั้งสามเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการเฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสและอันตรายแก่กาย จึงไม่ถูกต้องและเมื่อโจทก์ร่วมทั้งสามสามารถเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท โจทก์ร่วมทั้งสามจึงมีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงให้ไม่รอการลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ แต่เมื่อคดีขึ้นมาที่ศาลฎีกาแล้ว จึงเห็นสมควรสั่งให้ถูกต้องโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า สมควรรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยได้ความว่า เหตุเกิดเนื่องจากจำเลยขับรถยนต์ไปตามถนนซึ่งมีทางเดินรถเดียวโดยมี 3 ช่องเดินรถ และมีร่องคั่นกลางกับทางเดินรถที่สวนทาง จำเลยขับรถในช่องเดินรถที่ 3 นับจากซ้ายด้วยความเร็วประมาณ 110 ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจำเลยต้องการแซงรถยนต์คันหน้า จำเลยจึงขับรถเข้าไปในช่องเดินรถที่ 2 และที่ 1 ตามลำดับแล้วเปลี่ยนกลับเข้าช่องเดินรถที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถยนต์ ด้านท้ายรถยนต์ในช่องเดินรถที่ 2 และด้านหน้าซ้ายรถยนต์ในช่องเดินรถที่ 3 ทำให้รถยนต์ของจำเลยตกลงไปในร่องกลางถนนแล้วกระเด็นข้ามไปในทางเดินรถที่สวนมาแล้วชนกับรถยนต์กระบะซึ่งมีคนขับและผู้โดยสารรวม 9 คน กับรถยนต์อีกคันหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัสและอันตรายแก่กายเป็นผู้ที่นั่งมาในรถยนต์กระบะ ส่วนรถยนต์คันอื่นไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บคงมีแต่รถยนต์ที่เสียหายซึ่งได้รับการชดใช้จากบริษัทประกันภัยแล้ว ฝ่ายผู้เสียหายทั้งหมดในรถยนต์กระบะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมประมาณ 3,200,000 บาท ระหว่างพิจารณาจำเลยนำเงินมาวางศาลเพื่อชำระให้ผู้เสียหายจำนวน 5 ราย เป็นเงิน 200,000 บาท และระหว่างฎีกาจำเลยชำระเงินให้ทายาทของผู้เสียหายอีก 2 ราย รวมจำนวน 250,000 บาท ดังนั้นเมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับการที่จำเลยพยายามชดใช้เงินแก่ฝ่ายผู้เสียหายเพื่อบรรเทาผลร้าย ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 23 ปี อาศัยอยู่กับภริยา บุตรอายุ 4 ปี และมารดาของภริยา จำเลยทำงานประจำและนำรายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว จำเลยไม่เคยกระทำความผิดและรับโทษจำคุกมาก่อน เหตุคดีนี้เป็นบทเรียนครั้งสำคัญในชีวิตของจำเลยและทำให้จำเลยต้องขับรถด้วยความระมัดระวังต่อไปซึ่งพนักงานคุมประพฤติก็รายงานว่าหลังเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์อยู่บ้างแต่นาน ๆ ครั้ง และยังรู้สึกไม่สบายใจขณะขับรถ จำเลยจึงน่าจะสำนึกในการกระทำความผิด การลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษจึงไม่เป็นผลดีแก่จำเลยและครอบครัว สมควรให้โอกาสจำเลย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้โจทก์ร่วมทั้งสามเข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายด้วย และให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น