โจทก์จำเลยต่างฟ้องกันว่าผิดสัญญาเรียกเงินคืน และเรียกค่าเสียหาย
ต่างฝ่ายต่างให้การต่อสู้หลายประการ
ก่อนวันนัดสืบพยาน ศาลชั้นต้นนัดพร้อมสั่งรวมพิจารณา เรียกนายทองแดงเป็นโจทก์ นางจรวยพรเป็นจำเลย คู่ความมีข้อโต้เถียงกัน ๔ ข้อ คือ (๑) โจทก์ได้ชำระเงินแก่จำเลยแล้ว ๙๐,๘๐๐ บาท หรือ ๘๐,๘๐๐ บาท (๒) โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา (๓) ถ้าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยควรได้รับค่าเสียหายเท่าใด (๔) สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ประเด็นข้ออื่น ๆ นอกจากนี้คู่ความสละไม่โต้เถียงกัน ฝ่ายโจทก์รับนำสืบก่อนทุกข้อ เว้นแต่ข้อ ๔ เป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า ข้อ (๑) โจทก์ชำระเงินไถ่ถอนแล้ว ๘๐,๘๐๐ บาท ข้อ (๒) โจทก์ไม่ได้ผิดสัญญา ข้อ (๓) โจทก์ไม่ผิดสัญญา จำเลยเรียกค่าเสียหายไม่ได้ และริบเงินผ่อนส่งก็ไม่ได้ ข้อ (๔) คดียังไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยคืนเงิน ๘๐,๘๐๐ บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยและยกฟ้องของจำเลย
โจทก์จำเลยต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ ๒๐,๘๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย
โจทก์จำเลยต่างฎีกา
ก่อนวันวินิจฉัยถึงประเด็นที่คู่ความตั้งกันไว้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า เมื่อพิจารณาดูตามฟ้องและคำให้การแล้ว ไม่มีฝ่ายใดอ้างเกี่ยวถึงเรื่องยึดเวลาสัญญาขายฝาก เห็นว่าทั้งสองฝ่ายไม่มีเจตนาให้ไถ่ถอนการขายฝาก ฉะนั้น ในคดีนี้จึงไม่มีประเด็นเรื่องยึดเวลาสัญญาขายฝาก แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยตามประเด็นที่ตั้งกันไว้ดังนี้ (๑๔) เมื่อพิจารณาในทางหลักฐานสัญญากู้ซึ่งมีชื่อมารดาจำเลยเป็นผู้ให้กู้และมารดาจำเลยมิได้เข้ามาเป็นคู่ความด้วย จะวินิจฉัยชี้ขาดไปในคดีนี้อันเป็นผลกระทบกระเทือนถึงบุคคลภายนอกหาชอบไม่ โจทก์จึงเรียกคืนคืนจากจำเลยในคดีนี้ไม่ได้ (๒) พิจารณาจากหลักฐานและเหตุผลอย่างอื่นประกอบการที่โจทก์ต้องเพิ่มเงินราคาแก่จำเลยอีก ๕๐,๐๐๐ บาท สำหรับระยะเวลาเพียง ๖ เดือนเท่านั้น ดูจะเป็นการเกินสมควรมากไป ฉะนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าตกลงกันให้ชำระเงินภายใน ๖ เดือน นับแต่วันครบกำหนดไถ่ถอนดังข้ออ้างของจำเลย คงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา
เมื่อโจทก์ไม่ได้ผิดสัญญาจำเลยก็เรียกค่าเสียหายจากโจทก์ตามประเด็นข้อ ๓ ไม่ได้ โจทก์อยู่ในที่พิพาทเพราะจำเลยให้อาศัยอยู่ ที่จำเลยขายได้ราคาต่ำกว่าราคาที่ตกลงจะขายให้โจทก์ ๖๐,๐๐๐ บาทนั้น ศาลเห็นว่า การซื้อฝากย่อมรับซื้อต่ำกว่าราคาธรรมดา แต่โจทก์กลับขายไปต่ำกว่าราคาซื้อฝาก และไม่มีข้อตกลงเรื่องริบเงินที่ให้ได้ จำเลยจึงต้องคืนเงินที่ผ่อนชำระ
ประเด็นสุดท้าย เรื่องอายุความ แม้คดีจะถือว่าอายุความเพียง ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๑๙ โจทก์ก็ฟ้องคดีภายในกำหนดนั้นแล้ว
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น