โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับนางกมลวรรณ ศกุนตนาค ตกลงขายที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 16270, 16271, 16272 และเลขที่ 1025ให้แก่จำเลยเป็นเงินทั้งสิ้น 8,600,000 บาท ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 16270 และ 16271 และรับเงินค่าซื้อที่ดินไปแล้ว ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 16272 และ 1025 ซึ่งเป็นที่ดินของโจทก์ ตกลงไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 30พฤศจิกายน 2532 แต่จดทะเบียนไม่ได้เพราะวันดังกล่าวจำเลยเตรียมเงินชำระค่าซื้อที่ดินที่เหลือส่วนที่เป็นเงินสดไปเพียง300,000 บาท เพื่อชำระค่าธรรมเนียมค่าภาษีในนามของโจทก์แต่เจ้าพนักงานที่ดินคำนวณเป็นค่าธรรมเนียมและค่าภาษีประมาณ500,000 บาท จึงตกลงเลื่อนไป ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2532ซึ่งเป็นวันนัด จำเลยเตรียมเงินสดไปจำนวน 500,000 บาท เพื่อชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีดังกล่าว โจทก์ให้จำเลยไปติดต่อกับเจ้าพนักงานที่ดินเพราะจำเลยรู้จักกับเจ้าพนักงานที่ดินดีจะได้รับความสะดวก ในที่สุดก็จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แล้วเสร็จจำเลยนำเงินสดที่เหลือจากชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีจำนวน21,000 บาท คืนให้โจทก์ ครั้นวันที่ 16 มีนาคม 2533 โจทก์ไปตรวจสอบทราบว่าการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินชำระค่าธรรมเนียมเป็นเงินจำนวน 69,110 บาท ค่าภาษีจำนวน 167,456 บาท รวมเป็นเงิน246,566 บาท เท่านั้น ที่จำเลยคืนเงินให้โจทก์เพียงจำนวน21,000 บาท จึงคืนให้น้อยกว่าที่ต้องคืนเป็นเงินจำนวน 232,434 บาทโจทก์ได้ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 232,434 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ต้องการจะหลีกเลี่ยงชำระภาษีการขายที่ดินจึงให้จำเลยติดต่อกับพนักงานที่ดินขอรับชำระค่าธรรมเนียมการขายโดยประเมินราคาที่ดินให้ต่ำลง ให้จำเลยกันเงินค่าซื้อที่ดินจำนวน 500,000 บาท ไว้ชำระค่าธรรมเนียมในนามของโจทก์โดยตกลงกันว่าเมื่อหักค่าธรรมเนียมแล้ว เงินที่กันไว้ยังเหลือก็ให้มอบเป็นค่าตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการจดทะเบียนจำเลยได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานไปทั้งหมดแต่เจ้าพนักงานคืนเงินให้ 21,000 บาท จำเลยจึงมอบเงินจำนวนนั้นให้โจทก์ จำเลยไม่ได้เบียดบังเงินแต่อย่างใด ตามใบสั่งค่าธรรมเนียมค่าภาษีที่ทางราชการออกให้ระบุว่าที่ดินมีราคาจำนวน 3,200,000 บาทแต่ตามราคาประเมินของทางราชการว่ามีราคาเป็นเงินจำนวน3,954,000 บาท โดยที่ตามราคาซื้อขายเป็นเงินจำนวน 8,600,000บาท แต่โจทก์กลับแจ้งว่าซื้อขายในราคาเป็นเงินเพียงจำนวน3,200,000 บาท ซึ่งยังต่ำกว่าราคาประเมินอีกด้วย โจทก์หลีกเลี่ยงการชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีที่จะต้องชำระ โจทก์กระทำการโดยมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมาย ขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และโจทก์ชำระหนี้อันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินคืน พร้อมดอกเบี้ยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ระหว่างการพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นายดาบตำรวจสังวาลย์เกิดแก่น บุตรของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงเชื่อได้ตามทางนำสืบของจำเลยว่า การที่จำเลยไปดำเนินการเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคาที่ดินให้ต่ำลง ทำให้การเสียค่าธรรมเนียมการโอนและค่าภาษีลดน้อยลง โจทก์ได้รู้เห็นยินยอมด้วย ฎีกาของโจทก์ในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาสุดท้าย โจทก์มีสิทธิเรียกเงินที่เหลือจากค่าธรรมเนียมและค่าภาษีคืนได้เพียงใดหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยนำเงินไปมอบให้เจ้าพนักงานเพื่อให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโอนและค่าภาษีลดน้อยลง เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยโจทก์รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระเงินส่วนที่เหลือจากค่าธรรมเนียมและค่าภาษีการโอนโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ฎีกาของโจทก์ในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"
พิพากษายืน