โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91, 97 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 43, 43 ทวิ, 157/1, 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 92, 368 ริบของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (8), 160 (ที่ถูก 160 วรรคสาม) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน ปรับ 1,000 บาท ฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ปรับ 4,000 บาท เพิ่มโทษกึ่งหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน เป็นจำคุก 12 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน และปรับ 5,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 2,500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกคำขอให้เพิ่มโทษหนึ่งในสาม ส่วนรถยนต์ของกลางไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงจึงไม่ริบ ยกคำขอในส่วนนี้
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบรถยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ยื่นอุทธรรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ริบรถยนต์ของกลางต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ หรือไม่นั้น คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ส่วนรถยนต์ของกลาง ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงจึงไม่ริบ โจทก์อุทธรณ์ว่า รถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงอันจะพึงต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) เห็นว่า ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมายมิใช่ปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า มีเหตุสมควรริบรถยนต์ของกลางหรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ริบรถยนต์ของกลาง และคงลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปีซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง หากจำเลยประสงค์จะใช้สิทธิฎีกาชอบที่จะดำเนินการใช้สิทธิให้ถูกต้องภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ได้ความว่าจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาและศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาออกไปถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ในวันดังกล่าวจำเลยยื่นฎีกาและได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาของจำเลยไว้วินิจฉัย อันเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง แต่ศาลฎีกามีคำสั่งว่า การพิจารณาสิทธิฎีกาของจำเลยอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาพิจารณารับฎีกาของจำเลยไว้วินิจฉัย จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ให้ยกคำร้อง เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอีกฉบับหนึ่ง แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยก็ตาม แต่การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงครั้งหลังนี้ ได้ล่วงพ้นระยะเวลาที่จำเลยมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้เสียแล้ว คำร้องดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมา จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน