ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เปลี่ยนแปลงบทกฎหมายที่ใช้ลงโทษ: จากวัตถุออกฤทธิ์เป็นยาเสพติดให้โทษ และอำนาจศาลในการยกฟ้อง
ขณะจำเลยกระทำความผิด การเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 62 ตรี ต้องรับโทษตามมาตรา 106 ตรี ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97(พ.ศ. 2539)ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ เดิมทุกฉบับและให้วัตถุออกฤทธิ์ที่ระบุชื่อในบัญชีท้ายประกาศเป็นวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวมิได้ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์อีกต่อไป ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศลำดับที่ 20 ระบุชื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ เท่านั้น จึงมีผลให้การเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 57ต้องรับโทษตามมาตรา 91 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาทไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ อีกต่อไป อันเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 วรรคหนึ่ง เมื่อระวางโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ มาตรา 106 ตรี และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 91 ต่างเป็นคุณต่อผู้กระทำความผิดคือถ้าดูในโทษขั้นสูงแล้วพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ มาตรา 106 ตรีเป็นคุณกว่า เพราะจำคุกอย่างสูงเพียงห้าปี แต่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 91 ลงโทษอย่างสูงได้ถึงสิบปีแต่ถ้าดูโทษขั้นต่ำแล้ว พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯมาตรา 91 เป็นคุณกว่าเพราะจำคุกตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปแต่พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯมาตรา 106 ตรี จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ฉะนั้นถ้าศาลลงโทษจำคุกในอัตราขั้นสูงต้องใช้พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ เพราะเป็นคุณแก่จำเลยแต่ถ้าจะจำคุกจำเลยในอัตราขั้นต่ำต้องใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ เพราะเป็นคุณแก่จำเลย คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วางโทษจำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน การวางโทษอยู่ในระดับที่ใช้กฎหมายขณะกระทำความผิด คือ พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ ก็ได้ หรือใช้กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด คือ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯก็ได้ เช่นนี้ควรใช้กฎหมายขณะกระทำความผิดที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ จึงชอบแล้ว ข้อหาความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพวัตถุออกฤทธิ์ ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง,157 ทวิ วรรคหนึ่งนั้น เมื่อภายหลังการกระทำความผิดเมทแอมเฟตามีนไม่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทแต่ได้เปลี่ยนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539)และ พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ไม่มีบทบัญญัติลงโทษผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษดังเช่น พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 แล้ว จำเลยจึงไม่มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว ปัญหานี้แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185,215 และ 225 การเสพเมทแอมเฟตามีนแล้วปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถยนต์ในทางสาธารณะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุเป็นผลให้บุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บล้มตายซึ่งเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม นับได้ว่าเป็นภยันตรายที่ร้ายแรงปรากฏให้เห็นเป็นประจำในสังคมปัจจุบัน การลงโทษสถานหนักโดยให้จำคุกเป็นมาตรการหนึ่งในการป้องกันและปรามปรามหยุดยั้งมิให้มีการกระทำความผิดเช่นนี้อีก จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย