เดิมนายเกตุฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่เช่าซึ่งเช่ามาจากกรมการศาสนา นายเกตุได้ขอให้เรียกกรมการศาสนาเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย เมื่อคดีถึงที่สุดศาลพิพากษาขับไล่แล้ว จำเลยกลับฟ้องโจทก์ทั้งสองขอให้เพิกถอนหรือระงับคำพิพากษาที่ให้ขับไล่ ต่อมานายเกตุกับจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมกันว่า นายเกตุยอมงดบังคับคดีที่ตนชนะ และเมื่อนายเกตุปลูกตึกแล้วจะยอมให้จำเลยเช่าคนละ 2 คูหาฝ่ายจำเลยยอมเสียเงินกินเปล่า และค่าเช่าให้โจทก์ 4,200 บาท กับยอมถอนฟ้องที่จำเลยฟ้องโจทก์นั้นด้วย เมื่อจำเลยปฏิบัติตามสัญญานั้นแล้ว กรมการศาสนามายื่นคำร้องขอบังคับคดี
กรมการศาสนาแถลงว่าไม่ได้รู้เห็น และไม่รับรู้สัญญาประนีประนอมนั้น ฝ่ายจำเลยแถลงว่า สิทธิของโจทก์ที่จะขอบังคับคดีระงับไปตามสัญญาประนีประนอมแล้ว
ศาลชั้นต้นเห็นว่า กรมการศาสนาไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วยสัญญานั้นจึงไม่ผูกมัดกรมการศาสนา จึงไม่ตัดสิทธิกรมการศาสนาที่ขอให้บังคับคดี จึงสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำบังคับภายใน 15 วัน
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าสัญญาไม่ผูกมัดกรมการศาสนาและสัญญานั้นเป็นเรื่องแปลงหนี้ใหม่ มิใช่เป็นเรื่องชำระหนี้จะยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 298, 299 มาบังคับไม่ได้ทั้งจะว่าบังคับคดีเพื่อประโยชน์แก่นายเกตุก็ไม่ถนัด จึงพิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาชนิดนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 851 บัญญัติว่าจะต้องลงลายมือชื่อฝ่ายที่รับผิดหรือตัวแทนในสัญญานั้น ฉะนั้นคดีนี้จำเลยจะอ้างมายันกรมการศาสนาไม่ได้ ส่วนผลที่จำเลยจะได้รับตามสัญญา ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะไปว่ากล่าวเอากับนายเกตุอีกส่วน 1 จึงพิพากษายืน