โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 92, 335, 336 ทวิ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนทรัพย์อาวุธปืนพกแบบออโตเมติก 1 กระบอก พร้อมกระสุนปืน 6 นัด ธนบัตรไทย (เงินสด) 20,000 บาท ใบขับขี่รถจักรยานยนต์ ใบขับขี่รถยนต์ และใบขับขี่รถบรรทุก รวม 3 ใบ บัตรเอทีเอ็ม 3 ใบ และบัตรผ่อนค่างวดรถ 1 ใบ ที่ลักไปและยังไม่ได้คืนให้แก่ผู้เสียหาย หรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 65,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดในคดีนี้ และนับโทษของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 884/2564 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ จำคุกคนละ 4 ปี 6 เดือน เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 (13) เป็นจำคุก 6 ปี 9 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน 15 วัน คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 3 เดือน นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 884/2564 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 65,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 5 ปี 12 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 ปี 12 เดือน นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 884/2564 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนที่ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ไว้ชัดเจนแล้วว่า ก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 2 ปี 15 เดือน ฐานวิ่งราวทรัพย์ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 103/2561 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 กลับมากระทำความผิดในคดีนี้ซึ่งเป็นความผิดที่ได้จำแนกไว้ในอนุมาตราเดียวกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 (13) ซ้ำอีกภายในเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษ และมีคำขอท้ายฟ้องขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดในคดีนี้ด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอเพิ่มโทษ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้อง ศาลต้องเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 (13) ตามฟ้อง แม้โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 มาก็เป็นที่เห็นได้ว่าเป็นเพียงการระบุเลขมาตราคลาดเคลื่อนเท่านั้น ประการสำคัญที่สุด บทบัญญัติในเรื่องเพิ่มโทษผู้กระทำผิด ไม่ใช่เป็นมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำอย่างใดเป็นความผิด จึงไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) ที่จำต้องบรรยายมาในฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางวัน โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดดังกล่าวตามฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ จึงไม่ถูกต้อง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ก็มิได้แก้ไขให้ถูกต้อง เพียงแต่วงเล็บข้อความไว้ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในส่วนที่กล่าวถึงคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ที่ถูก วรรคแรก ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ จำคุกคนละ 4 ปี 6 เดือน เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 (13) เป็นจำคุก 6 ปี 9 เดือน ลดโทษให้จำเลยทั้งสองคนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน 15 วัน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9