ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนสิทธิเรียกร้องเงินฝากประจำโดยการทำหนังสือและบอกกล่าวเจตนา ถือเป็นการโอนสมบูรณ์
ฉ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ ช. โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและได้ร่วมกันปล่อยเงินกู้ ซื้อขายที่ดินและเป็นนายหน้าขายที่ดิน เงินในบัญชีเงินฝากประจำทั้งสามรายการเป็นทรัพย์สินที่ ช. และ ฉ. ทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา ช. และ ฉ. จึงต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในเงินจำนวนดังกล่าวและต้องแบ่งให้คนละเท่า ๆ กัน
การที่ ฉ. ฝากเงินประจำไว้แก่จำเลยที่ 2 เงินที่ฝากประจำย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 คงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ฝากประจำให้ครบจำนวนพร้อมดอกเบี้ยเมื่อถึงกำหนดแก่ ฉ.
การที่ ฉ. มีเจตนายกเงินฝากประจำให้แก่จำเลยที่ 1 และได้ทำหนังสือถึงผู้จัดการจำเลยที่ 2 ให้เพิ่มชื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้แทนการถอนเงินออกมาฝากในนามจำเลยที่ 1 เนื่องจากเงินที่ฝากประจำยังไม่ครบกำหนด หากถอนเงินในขณะนั้นจะไม่ได้ดอกเบี้ย ถือได้โดยปริยายว่ามีเจตนาโอนสิทธิเรียกร้องของ ฉ. ที่ฝากเงินไว้แก่จำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 ในลักษณะการโอนหนี้อันจะพึงชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจง เมื่อได้มีการปฏิบัติถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ ฉ. ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อและบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง การโอนสิทธิเรียกร้องในเงินฝากประจำของ ฉ. ให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมสมบูรณ์ สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้เงินฝากประจำจึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 กรณีไม่ใช่เป็นเพียงมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากแทน ฉ. เท่านั้น เมื่อ ฉ. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฉ. โดยคำสั่งของศาลชั้นต้น ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินฝากประจำดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 1