ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีอาญา: การจับกุมและการแจ้งข้อหาโดยไม่มีหมายจับ ไม่ถือเป็นการจับกุมตามกฎหมาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 237 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นบัญญัติว่า ในคดีอาญาการจับและคุมขังบุคคลใดจะกระทำมิได้เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยผู้ถูกจับจะต้องได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับโดยไม่ชักช้า ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ประกอบ พ.ร.บ. ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 บัญญัติว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับนั้นไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ (1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 80 (2) เมื่อพบบุคคลนั้นกำลังพยายามกระทำความผิด หรือพบโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะกระทำความผิดโดยมีเครื่องมืออาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด (3) เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดมาแล้วและจะหลบหนี (4) เมื่อมีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดและแจ้งด้วยว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้ว ดังนั้น การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 237 การที่จำเลยเข้ามอบตัวพนักงานสอบสวนและมีการแจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีคำสั่งหรือหมายของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับ หรือต้องผัดฟ้องหรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2551)