คดีทั้งสามสำนวนนี้ คู่ความรายเดียวกัน และศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาพิพากษา
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คจำนวน 3 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 50,000 บาท ซึ่งมีจำเลยผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายมอบให้แก่ผู้มีชื่อ ต่อมาผู้มีชื่อสลักหลังโอนเช็คทั้งสามฉบับให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ เมื่อถึงกำหนดชำระเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสามฉบับ ขอให้จำเลยชำระเงินตามเช็คทั้งสามฉบับ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การทั้งสามสำนวนทำนองเดียวกันว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโจทก์มิใช่ผู้ทรงเช็คโดยสุจริตและเช็คพิพาทขาดอายุความ 1 ปีแล้วกับเช็คพิพาทเป็นเช็คระบุชื่อผู้รับเงิน การโอนต้องระบุชื่อผู้รับโอนด้วย แต่เช็คพิพาทไม่ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับโอน โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 150,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยมอบเช็คพิพาทให้ผู้มีชื่อเป็นใครเมื่อใด และผู้มีชื่อสลักหลังเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เป็นใครเมื่อใด จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา172 วรรคสองนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทมีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายแล้วส่งมอบให้แก่ผู้มีชื่อ ต่อมาผู้มีชื่อสลักหลังและส่งมอบให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ตามภาพถ่ายเช็คเอกสารท้ายฟ้อง เมื่อเช็คถึงกำหนดธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจึงขอให้บังคับใช้เงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ย ดังนี้ คำฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัด ซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว หาจำต้องบรรยายว่าจำเลยมอบเช็คพิพาทแก่ใครเมื่อใด และผู้มีชื่อเป็นใคร มอบเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เมื่อใดซึ่งเป็นรายละเอียดที่จะพึงนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาต่อไปว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คระบุชื่อผู้รับเงินการสลักหลังต้องระบุชื่อผู้สลักหลังและผู้รับสลักหลังด้วย การที่เช็คพิพาทมิได้ระบุชื่อโอนให้แก่ใคร อันเป็นการสลักหลังลอยจึงเป็นการโอนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ผูกพันจำเลยนั้น เห็นว่าเช็คพิพาททั้งสามฉบับเป็นเช็คระบุชื่อผู้รับเงิน ย่อมโอนให้กันได้ด้วยการสลักหลังและการสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 919ประกอบด้วยมาตรา 989 ดังนั้นการที่ผู้สลักหลังมิได้ระบุชื่อโอนให้แก่ใครก็มีผลสมบูรณ์ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
จำเลยฎีกาอีกว่า วงแชร์ล้มเมื่อเดือนมิถุนายน 2527 ถือว่าสัญญาเล่นแชร์เลิกกันไป ผู้ทรงเช็คพิพาทชอบที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาททันทีและชอบที่จะจดวันสั่งจ่ายลงในเช็คพิพาทเป็นเดือนมิถุนายน 2527 แล้วนำไปขึ้นเงินต่อธนาคารและสิทธิเรียกร้องก็เริ่มนับตั้งแต่วันแชร์ล้มคือเดือนมิถุนายน 2527การที่โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายเป็นเดือนพฤษภาคม 2530 จึงเกิน 1 ปีฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่า จำเลยนำสืบว่า จำเลยประมูลแชร์ได้และรับเงินแชร์แล้ว โดยสั่งจ่ายเช็คฉบับละ 50,000 บาท จำนวน18 ฉบับรวมทั้งเช็คพิพาททั้งสามฉบับให้แก่นายวงแชร์ เพื่อนำไปให้แก่ลูกแชร์คนอื่นที่ประมูลได้โดยลงแต่รายการวันที่ แต่ไม่ได้ลงเดือนและปีลงในเช็คพิพาท กับได้ความจากนายสุรัตน์ พิพัฒน์ไชยศิริผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานแหอวนเดชาพาณิชย์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดแก่นนครยางไฟร์สโตน และบริษัทนำวิวัฒน์ขอนแก่น (2526) จำกัด ลูกแชร์ซึ่งประมูลแชร์ได้ และได้รับเช็คพิพาทคนละฉบับทวงเงินจากจำเลยไม่ได้ จึงทวงถามจากโจทก์ซึ่งเป็นนายวงแชร์เมื่อต้นปี 2530 โจทก์จ่ายเงินให้และรับสลักหลังโอนเช็คพิพาทมา วันที่ 19 พฤษภาคม 2530 โจทก์นำเช็คพิพาททั้งสามฉบับเข้าบัญชีโจทก์ที่ธนาคารเพื่อเรียกเก็บแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเช่นนี้ เห็นว่า เมื่อโจทก์รับสลักหลังด้วยการเข้าใช้เงินและรับเช็คพิพาทมาเมื่อต้นปี 2530 และลงวันที่ 19พฤษภาคม 2530 ในเช็คพิพาททั้งสามฉบับย่อมเป็นการที่โจทก์ในฐานะผู้ทรงทำการโดยสุจริตจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 วรรคห้า ประกอบด้วยมาตรา 989 อายุความฟ้องจำเลยผู้สั่งจ่าย 1 ปี นับแต่วันที่ลงในเช็ค หาใช่นับตั้งแต่วันแชร์ล้มในเดือนมิถุนายน 2527 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้เป็นผู้ทรงดังที่จำเลยฎีกาไม่..."
พิพากษายืน.