โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน 6,976,485 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเป็นสองเท่าของทุนทรัพย์ตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งสามด้วย
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 80,000 บาท
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 200,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 677,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 พฤษภาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสามแต่ละคน และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสาม โดยในส่วนที่โจทก์ทั้งสามได้รับยกเว้นนั้นให้จำเลยทั้งสี่นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท
จำเลยทั้งสี่ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีสัญชาติไทย เป็นบุตรโจทก์ที่ 3 เกิดกับนายคอสติกา จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนในระบบประเภทนานาชาติ เปิดสอนชั้นเรียนตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจร่วมกับจำเลยที่ 3 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ และมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนของจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2557 โจทก์ที่ 3 นำโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไปเข้าเรียนที่โรงเรียนจำเลยที่ 1 ต่อมาในปีการศึกษา 2560 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ที่ 3 ชำระเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่โจทก์ที่ 3 เห็นว่าหนังสือดังกล่าวไม่มีรายละเอียดของเงินที่เรียกเก็บ โจทก์ที่ 3 จึงขอให้จำเลยที่ 1 ชี้แจงรายละเอียด นอกจากนี้ โจทก์ที่ 3 ยังได้ร้องเรียนเรื่องการเก็บเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาของจำเลยที่ 1 ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลสถานศึกษาในเขตพื้นที่ จำเลยที่ 1 จึงเชิญให้โจทก์ที่ 3 ไปพบกับผู้บริหารโรงเรียนจำเลยที่ 1 เพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าว 2 ครั้ง แต่โจทก์ที่ 3 ไม่ไปพบ ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือฉบับลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 ส่งไปถึงโจทก์ที่ 3 โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ลงนามในฐานะกรรมการบริหารโรงเรียนจำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ที่ 3 และสามีโจทก์ที่ 3 พิจารณาย้ายโรงเรียนให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2560 จนกระทั่งวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 จำเลยที่ 1 ได้มีประกาศเรื่อง อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น ประจำปีการศึกษา 2560 ถึง 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น ประจำปีการศึกษา 2558 ถึง 2559 ปรากฏว่าอัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บในชั้นเรียนต่าง ๆ สูงกว่าประจำปีการศึกษา 2558 ถึง 2559 ร้อยละ 14 ถึง 29 ต่อมาโจทก์ที่ 3 จึงให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกจากโรงเรียนจำเลยที่ 1 และไปสมัครศึกษาต่อที่โรงเรียนอื่น แล้วโจทก์ทั้งสามจึงมาฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ว่าร่วมกันกระทำละเมิดและขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสี่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประเด็นแรกว่าจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดแก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 50 บัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้...(4) เข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ... มาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ...พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 17 บัญญัติว่า ให้มีการศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปี โดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับ... มาตรา 45 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้สถานศึกษาเอกชนจัดการศึกษาได้ทุกระดับและทุกประเภทการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด โดยรัฐต้องกำหนดนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของเอกชนในด้านการศึกษา... พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 มาตรา 4 นิยามศัพท์ "การศึกษาภาคบังคับ" หมายความว่า การศึกษาชั้นปีที่หนึ่งถึงชั้นปีที่เก้าของการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ "สถานศึกษา" หมายความว่าสถานศึกษาที่จัดการศึกษาภาคบังคับ "เด็ก" หมายความว่า เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่เด็กที่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับแล้ว บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นบทบังคับให้ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยมีหน้าที่ต้องเข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ ขณะเดียวกันยังเป็นหน้าที่ของรัฐจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยเริ่มตั้งแต่ก่อนวัยเรียน คือ ชั้นอนุบาล 1 ถึง 3 จนจบการศึกษาภาคบังคับ คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย จำเลยที่ 1 เป็นโรงเรียนเอกชนในระบบประเภทนานาชาติ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 เปิดสอนชั้นเรียนตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งรวมถึงการจัดการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่ก่อนวัยเรียน คือ ชั้นอนุบาล 1 ถึง 3 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ด้วย จึงเป็น "สถานศึกษา" ตามนิยามศัพท์ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 1 เป็นโรงเรียนเอกชนหรือของรัฐ จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จัดการศึกษาภาคบังคับให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ต้องจัดการศึกษาภาคบังคับตามหลักสูตรที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนมีอำนาจในการกำกับดูแล การประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาเช่นเดียวกับสถานศึกษาของรัฐ รวมทั้งการควบคุมการกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นหากโรงเรียนในระบบแสวงหากำไรเกินควร ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 13 และมาตรา 33 นอกจากนี้ แม้ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 จะยังมิได้แก้ไขกำหนดอายุของเด็กก่อนวัยเรียน คือ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่เมื่อเทียบจำนวนชั้นปีที่เด็กต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายทั้งสองฉบับจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะสอดคล้องกับอายุเด็กซึ่งเริ่มตั้งแต่อายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก แสดงให้เห็นว่าการศึกษาภาคบังคับไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษาโดยรัฐหรือเอกชนต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง จะให้เด็กออกกลางคันหรือดำเนินการจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนเพื่อให้เด็กพ้นสภาพจากโรงเรียนที่เรียนอยู่โดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องหาได้ไม่ ทั้งนี้เพราะเด็กไทยทุกคนต้องได้รับโอกาสในการศึกษาภาคบังคับเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันก่อนที่เด็กจะมีวุฒิภาวะในการเลือกตัดสินใจที่จะศึกษาต่อในภาคการศึกษาที่มิใช่ภาคบังคับหรือประกอบอาชีพตามความถนัดของตนเองต่อไปส่วนการบริหารจัดการการศึกษาประการอื่น นอกเหนือจากการกำกับดูแลของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน โรงเรียนเอกชนย่อมมีอำนาจดำเนินการให้บริการทางการศึกษาได้โดยอิสระภายในขอบเขตของกฎหมายและข้อสัญญาระหว่างบิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กกับโรงเรียนเอกชนนั้น หาใช่กระทำได้ตามอำเภอใจดังที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาแต่อย่างใดไม่ สำหรับมูลเหตุที่โจทก์ที่ 1 และ ที่ 2 ออกจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 นั้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าในปีการศึกษา 2560 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ที่ 3 ชำระเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่โจทก์ที่ 3 เห็นว่า หนังสือดังกล่าวไม่มีรายละเอียดของเงินที่เรียกเก็บ โจทก์ที่ 3 จึงขอให้จำเลยที่ 1 ชี้แจงรายละเอียดโดยมีการโต้ตอบระหว่างกัน เมื่อโจทก์ที่ 3 ไม่ได้รับคำชี้แจงอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 13 มีนาคม 2560 โจทก์ที่ 3 จึงมีหนังสือถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ตขอสำเนาประกาศ เรื่อง อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น ของโรงเรียนจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 เชิญให้โจทก์ที่ 3 ไปพบกับผู้บริหารโรงเรียน เพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าว 2 ครั้ง แต่โจทก์ที่ 3 ไม่ไปพบ จนนำไปสู่เหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือฉบับลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 ส่งไปยังโจทก์ที่ 3 เห็นได้ชัดว่า ก่อนที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะออกจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 มิใช่เกิดจากการกระทำความผิดใด ๆ ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่เกิดจากการที่โจทก์ที่ 3 ต้องการทราบรายละเอียดอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนจำเลยที่ 1 ที่เรียกเก็บ อันเป็นสิทธิของโจทก์ที่ 3 ที่จะได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าวตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 32 วรรคท้าย เพราะมิฉะนั้นโจทก์ที่ 3 ย่อมไม่อาจทราบได้อย่างแจ้งชัดว่าค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นครอบคลุมรายการใดบ้าง โดยเฉพาะกรณีที่อาจมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในระหว่างปีการศึกษา เมื่อพิจารณาข้อความในตอนต้นกล่าวถึงการที่จำเลยที่ 1 มีคำเชิญให้โจทก์ที่ 3 เข้าร่วมประชุมสำคัญที่โรงเรียน แต่โจทก์ที่ 3 ไม่มาและเนื้อความตอนท้ายของหนังสือระบุว่า ขอให้โจทก์ที่ 3 พิจารณาย้ายโรงเรียนแก่บุตรโจทก์ที่ 3 ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ข้อความดังกล่าวมีความชัดเจนไม่จำต้องแปลความแต่อย่างใดเลยว่า จำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ศึกษาต่อที่โรงเรียนของจำเลยที่ 1 ต่อไปดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมา ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า การออกหนังสือเป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริหารโรงเรียนโดยมีความมุ่งหมายเพียงเพื่อกดดันให้โจทก์ที่ 3 เข้ามาเจรจาปรับความเข้าใจกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อันเป็นมาตรการสุดท้ายที่มีความเหมาะสม มิได้ต้องการให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกจากโรงเรียนนั้น ในวันดังกล่าว โจทก์ที่ 3 ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ไปยังจำเลยที่ 4 ขอทราบสาเหตุว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดอย่างไรอันเป็นเหตุให้ต้องออกจากโรงเรียน ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 จำเลยที่ 4 ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ในนามคณะกรรมการบริหารโรงเรียนโต้ตอบกลับมายังโจทก์ที่ 3 มีข้อความตอนหนึ่งว่า "...การให้นักเรียนสิ้นสภาพการเป็นนักเรียนของโรงเรียนนั้น ไม่ได้มาจากเหตุที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมหรือผลการเรียนของตัวนักเรียนแต่อย่างใด ในทางกลับกันนักเรียนทั้งสองคนนี้นั้นเป็นนักเรียนที่ดีของโรงเรียนและทางโรงเรียนก็มีความยินดีที่จะออกหนังสือรับรองผลการเรียนของนักเรียนทั้งสองในช่วงที่ศึกษาที่โรงเรียนจำเลยที่ 1 ให้แก่ผู้ปกครอง..." ข้อความดังกล่าวนี้ยิ่งเป็นการย้ำชัดให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่มีความประสงค์ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สิ้นสภาพการเป็นนักเรียนของโรงเรียนจำเลยที่ 1 ทั้งที่ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องระหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลยทั้งสี่ ส่วนที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาอีกว่าโรงเรียนจำเลยที่ 1 ยังมีที่ว่างในชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 10 อย่างละ 1 ที่ สำหรับโจทก์ที่ 2 และที่ 1 เนื่องจากทางโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ปกครองนักเรียนในวันที่ 17 และวันที่ 18 สิงหาคม 2560 ตามลำดับว่า เด็กนักเรียนในความปกครองไม่อาจมาเรียนได้ พร้อมคำแปล นั้น เห็นว่า เมื่อมีการประกาศรายชื่อนักเรียนประจำปีการศึกษา 2560 พร้อมคำแปลปรากฏว่าในชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 10 ซึ่งมีนักเรียนห้องเรียนละ 24 คน อย่างละ 2 ห้อง ไม่มีชื่อของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และเป็นไปไม่ได้ที่โจทก์ที่ 3 จะไม่รีบเร่งขวนขวายหาที่เรียนให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ใหม่ เพราะโรงเรียนจะเปิดภาคเรียนในปีการศึกษาใหม่ในวันที่ 21 สิงหาคม 2560 การที่ไม่มีชื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เมื่อมีการประกาศรายชื่อนักเรียน และจำเลยที่ 1 โดยคณะกรรมการบริหารของโรงเรียนแสดงเจตนาให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สิ้นสภาพจากการเป็นนักเรียนของโรงเรียนจำเลยที่ 1 ย่อมมีผลเท่ากับเป็นการจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียน ซึ่งตามตราสารจัดตั้งนิติบุคคลโรงเรียนจำเลยที่ 1 ข้อ 27 กำหนดเหตุที่จะจำหน่ายนักเรียนเพียง 4 กรณี คือ 1.เมื่อจบหลักสูตร 2.เมื่อลาออก 3.เมื่อตาย และ 4.เมื่อขาดเรียนเกิน 1 ปีการศึกษาขึ้นไป กรณีดังกล่าวจึงเป็นการจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยปราศจากอำนาจ ทั้งยังเป็นการกระทำที่ผิดต่อหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย อันมีผลกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่จะได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างต่อเนื่อง จะให้ออกจากโรงเรียนกลางคันเสียมิได้ดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจให้บริการทางการศึกษา จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้บริโภค ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสามนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน อยู่ในฐานะเป็นผู้แทนนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427 ส่วนจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดทำทะเบียนนักเรียน กับปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามตราสารจัดตั้งของโรงเรียนตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 39 (4) (6) แต่กลับกระทำผิดต่อหน้าที่เสียเอง จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามเช่นกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ประกอบมาตรา 432 ฎีกาอื่นของจำเลยทั้งสี่ในประเด็นพิพาทข้อนี้เป็นรายละเอียดปลีกย่อยไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสี่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประเด็นสุดท้ายมีว่าจำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามเพียงใด สำหรับค่าเสียหายในส่วนค่าเล่าเรียน อันเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา ซึ่งโจทก์ที่ 3 ชำระให้แก่โรงเรียนแห่งใหม่ นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียน น. ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนในระบบที่จังหวัดภูเก็ตเช่นกัน โจทก์ที่ 3 ต้องเสียค่าธรรมเนียมการศึกษาในส่วนของโจทก์ที่ 1 รวม 3 ภาคเรียน เป็นเงินปีละ 198,937.50 บาท และโจทก์ที่ 2 รวม 3 ภาคเรียน เป็นเงินปีละ 198,937.50 บาท หากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยังคงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนของจำเลยที่ 1 จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการศึกษาในชั้นปีเดียวกัน เป็นเงินปีละ 400,000 บาท และ 350,000 บาท ตามลำดับโจทก์ที่ 3 มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาเป็นปกติอยู่แล้วและไม่ได้เสียค่าธรรมเนียมการศึกษาในโรงเรียนใหม่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ ส่วนการที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ย้ายไปศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2561 ที่โรงเรียน ภ. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นความสมัครใจย้ายโรงเรียนของโจทก์ทั้งสามเอง เป็นความเสียหายที่ไกลกว่าเหตุ โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้เช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 3 รวมกันมาเป็นเงิน 677,000 บาท ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต้องเสียโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนของจำเลยที่ 1 นั้น รายละเอียดเกี่ยวกับกิจการของจำเลยที่ 1 แนบท้ายใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียน ระบุเป็นการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ของประเทศอังกฤษ จำเลยที่ 4 เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านยอมรับว่า มาตรฐานของหลักสูตรจะใช้ข้อสอบที่ส่งมาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ บางชั้นปีต้องส่งข้อสอบกลับไปตรวจที่ประเทศอังกฤษ ดังนั้น นักเรียนที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ก็จะมีโอกาสเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์หากได้รับการตอบรับ แต่นักเรียนที่ออกจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 หากไปศึกษาในหลักสูตรภาษาไทย อาจมีปัญหาหากขาดความสันทัดจัดเจนในการใช้ภาษาไทย การที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต้องออกจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 กลางคันย่อมต้องเสียเวลาในการปรับตัวในด้านต่าง ๆ เพื่อศึกษาในหลักสูตรอื่นทำให้ขาดความต่อเนื่องทางการศึกษา และอาจเสียโอกาสในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อประกอบอาชีพในอนาคต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ 200,000 บาท เหมาะสมแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 เดิม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายโดยชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี... และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 224 เดิม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า หนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี... และพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระหนี้เสร็จ แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามขอ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ ส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เดิม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 พฤษภาคม 2561) เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่ละคน อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้ยกฟ้องในส่วนความรับผิดระหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลยทั้งสี่นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลยทั้งสี่ในชั้นอุทธรณ์ และระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสี่ในชั้นฎีกาให้เป็นพับ