โจทก์ฟ้องและขอแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้าซึ่งบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมิคัลไทย จำกัด (มหาชน) สั่งซื้อจากบริษัทฮับเส็งฮวด จำกัด ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์บริษัทฮับเส็งฮวดได้ว่าจ้างบริษัทสเป็คคาร์โก้ ฟอร์เวิร์ดดิ้ง (เอส) พีทีอี จำกัดให้ขนส่งสินค้า บริษัทสเป็คคาร์โก้ ฟอร์เวิร์ดดิ้ง (เอส) พีทีอีจำกัด ได้ร่วมขนส่งกับจำเลยทั้งสามโดยใช้เรือรัฐภูมิของจำเลยที่ 2ทำการขนส่ง เมื่อเรือรัฐภูมิเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ได้ติดต่อกรมศุลกากรและการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อนำเรือเข้าจอดเทียบท่าทำการขนถ่ายสินค้าและติดต่อกับบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมิคัลไทย จำกัด (มหาชน) ให้มารับสินค้า เมื่อส่งมอบสินค้าให้กับบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมิคัลไทย จำกัด (มหาชน)สินค้าขาดไป 1 พาลเล็ต โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมิคัลไทย จำกัด (มหาชน) ไปจำนวน 75,703.73 บาท และเข้ารับช่วงสิทธิมาฟ้องคดีนี้ จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ร่วมขนสินค้ารายนี้ ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 75,703.73 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการเป็นตัวแทนเรือหรือตัวแทนเจ้าของเรือ หรือตัวแทนผู้ขนส่งในการดำเนินพิธีการศุลกากร การเข้าท่า การออกจากท่าบริษัทฮับเส็งฮวด จำกัดว่าจ้างบริษัทสเป็คคาร์โก้ ฟอร์เวิร์ดดิ้ง (เอส) พีทีอี จำกัดให้ขนส่งสินค้าตามฟ้อง บริษัทสเป็คคาร์โก้ ฟอร์เวิร์ดดิ้ง(เอส) พีทีอี จำกัด ว่าจ้างให้บริษัทแม็คเนลส์ เอเยนซี พีทีอีจำกัด ดำเนินการบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้า หรือตู้คอนเทนเนอร์ต่อหน้าศุลกากร ปิดผนึกดวงตราที่ปากตู้แล้วจึงนำตู้สินค้าขึ้นบรรทุกเรือรัฐภูมิ เมื่อเรือเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพผู้ขนส่งได้มอบตู้สินค้าให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยในสภาพเรียบร้อย ถือว่าสิ้นสุดหน้าที่ของผู้ขนส่ง หากสินค้าสูญหายก็เป็นเพราะบรรจุสินค้าไม่ครบจากต้นทาง อนึ่งสินค้าสูญหายไปเพียง 1 หน่วยการขนส่งผู้ขนส่งหากต้องรับผิดก็ไม่เกิน10,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ผู้ส่งของเป็นผู้บรรจุ ตรวจนับสินค้าเข้าตู้ด้วยตนเองและปิดผนึกเอง จำเลยที่ 2 มีหน้าที่เพียงขนส่งตู้สินค้ามามอบให้จำเลยที่ 3 ผู้รับตราส่งโดยผ่านการท่าเรือแห่งประเทศไทยเท่านั้น และการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้รับตู้สินค้าไว้ในสภาพเรียบร้อยเหมือนจำเลยที่ 2 รับมาจากต้นทางการที่สินค้าสูญหายก็เพราะบรรจุมาไม่ครบถ้วน หากจำเลยที่ 2จะต้องรับผิดในสินค้าที่สูญหาย 1 หน่วย ก็ไม่เกิน 10,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ขนส่งสินค้าซึ่งรับขนสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์มายังประเทศไทยในแบบ CY/CY กล่าวคือ ผู้ส่งสินค้าจะเป็นผู้บรรจุสินค้าเข้าตู้และผนึกดวงตราตู้สินค้าเองที่ต้นทางการสูญหายของสินค้ามิได้เกิดระหว่างการขนส่ง แต่เป็นเพราะบรรจุสินค้ามาไม่ครบ ความรับผิดของผู้ขนส่งมีไม่เกิน 10,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นเพียงตัวแทนผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งอื่น แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าสินค้าพิพาทได้สูญหายในระหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 39 ประกอบมาตรา 44แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2
ศาลฎีกาแผนกทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า "คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เพียง75,703.73 บาท ซึ่งไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งอื่นซึ่งตกลงรับขนสินค้าแบบ CY/CY โจทก์ไม่นำสืบว่า สินค้าได้สูญหายระหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ส่งมอบตู้สินค้าพิพาทให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย ตู้สินค้าอยู่ในสภาพเรียบร้อยแสดงให้เห็นว่า สินค้าในตู้สินค้าไม่มีโอกาสสูญหายระหว่างจำเลยที่ 2 ทำการขนส่ง กรณีไม่อาจถือว่า สินค้าพิพาทสูญหายไประหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 39 ประกอบมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า สินค้าที่พิพาทได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่งซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้องตามมาตรา 39 วรรคสอง, 43, 44, 45, 52 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 นั้น เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่อุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์มานั้นจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้"
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์