โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 147, 157 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 600,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนให้แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.887/2560 ของศาลจังหวัดสตูล
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 (เดิม) จำคุก 5 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 600,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.887/2560 ของศาลจังหวัดสตูล ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรี ผู้เสียหาย ได้รับมอบหมายจากนายกเทศมนตรีตำบลผู้เสียหาย ให้มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งอนุญาต อนุมัติให้ก่อหนี้ (จัดซื้อจัดจ้าง) อนุมัติให้จ่ายเงินตามระเบียบสั่งจ่ายเงินในฎีกาเงินตามงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ รวมทั้งอนุมัติเงินยืมในวงเงินไม่จำกัดจำนวนเฉพาะส่วนสำนักปลัดเทศบาล กองคลัง กองช่าง ลงนามในเช็คร่วมกับปลัดเทศบาลหรือผู้รักษาการแทน ในหมวดเงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว ค่าตอบแทน ค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ โดยไม่จำกัดวงเงินขององค์การบริหารส่วนตำบล กรณีที่นายกเทศมนตรีตำบลผู้เสียหายไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รักษาราชการแทน จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งปลัดเทศบาลตำบลผู้เสียหาย มีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์สินและเงินงบประมาณของเทศบาลตามระเบียบของทางราชการ รับผิดชอบควบคุม กำกับดูแล บังคับบัญชาการปฏิบัติราชการประจำทุกส่วนงานของเทศบาลผู้เสียหายตั้งแต่สำนักปลัดเทศบาล กองคลัง กองช่าง กองสาธารณสุขและกองการศึกษา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 เทศบาลตำบลผู้เสียหายประกาศใช้บังคับเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 โดยงบประมาณส่วนหนึ่งกำหนดรายจ่ายให้กองการศึกษาจัดกิจกรรมโครงการถนนอาหารฮาลาลเป็นเงิน 500,000 บาท ต่อมาประมาณต้นเดือนมกราคม 2554 จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจในตำแหน่งสั่งให้นางซอร่า หัวหน้ากองการศึกษา เทศบาลตำบลผู้เสียหายทำบันทึกเสนอขอจัดกิจกรรมโครงการถนนอาหารฮาลาล ประจำปี 2554 ในวันที่ 18 มีนาคม 2554 โดยให้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายจัดกิจกรรม 600,000 บาท มากกว่างบประมาณรายจ่ายที่เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีกำหนดไว้ 100,000 บาท และให้เทศบาลผู้เสียหายโอนงบประมาณรายจ่ายเกี่ยวกับการรับรอง พิธีการด้านศาสนาและประเพณี ค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมโครงการประเพณีต่าง ๆ จำนวน 100,000 บาท ไปสมทบ หลังจากนั้นวันที่ 31 มกราคม 2554 เทศบาลตำบลผู้เสียหายออกประกาศตามที่จำเลยที่ 1 สั่งการ ระหว่างนั้นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 เทศบาลตำบลแม่สะเรียง มีหนังสือเชิญคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา และข้าราชการในสังกัดเทศบาลตำบลผู้เสียหายเข้าร่วมการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการระหว่างวันที่ 16 ถึง 18 มีนาคม 2554 ที่กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เกษียณในหนังสือเชิญดังกล่าวให้ตนเข้าร่วมสัมมนา ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 นางซอร่าจัดทำบันทึกขออนุมัติจัดกิจกรรมโครงการดังกล่าวเสนอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาจำเลยที่ 2 ตรวจโครงการแล้วเสนอให้จำเลยที่ 1 ซึ่งปฏิบัติราชการแทนนายกเทศมนตรีพิจารณาอนุมัติ ในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 ใช้อำนาจในตำแหน่งสั่งให้กองคลังเทศบาลผู้เสียหายทำสัญญายืมเงินทดรองราชการ 600,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ เมื่อได้รับเงินยืมทดรองราชการดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 โอนเงิน 568,500 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของนางอมมีสลาม๊ะ ภริยาของจำเลยที่ 1 ส่วนที่เหลือ 31,500 บาท โอนให้แก่บุคคลอื่น วันที่ 7 มีนาคม 2554 จำเลยที่ 2 ทำบันทึกขออนุญาตเดินทางเข้าร่วมสัมมนา วันที่ 8 มีนาคม 2554 นายอดิศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลผู้เสียหายสั่งให้จำเลยทั้งสองไปร่วมสัมมนา จำเลยทั้งสองเดินทางไปเข้าร่วมสัมมนา โดยไม่ได้ดำเนินการให้มีการนำเงินยืมทดรองราชการดังกล่าวไปใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมโครงการ ไม่ได้มอบคืนให้แก่เทศบาลตำบลผู้เสียหาย ทั้งมิได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของเทศบาลตำบลผู้เสียหายจัดกิจกรรมโครงการแทน หลังจากนั้นวันที่ 4 เมษายน 2554 จำเลยที่ 2 นำข้อเท็จจริงเรื่องการยืมเงินทดรองราชการและเรื่องที่จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 นำเงินยืมทดรองราชการดังกล่าวโอนไปเข้าบัญชีของนางอมมีสลาม๊ะ เข้าแจ้งความให้เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองสตูลบันทึกไว้เป็นหลักฐาน วันที่ 5 เมษายน 2554 จำเลยที่ 2 เข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรดังกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 ข่มขู่ กักขังและทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 2 เพื่อสอบถามเรื่องที่ภริยาและบุตรสาวของจำเลยที่ 1 ถูกข่มขืน ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ไปช่วยราชการที่สำนักงานท้องถิ่นจังหวัดหลังจากนั้นวันที่ 19 เมษายน 2554 จำเลยที่ 2 ทำหนังสือร้องเรียนจำเลยที่ 1 ต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องที่จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 ยืมเงินทดรองราชการแล้วให้โอนเงินยืมดังกล่าวไปเข้าบัญชีของนางอมมีสสลาม๊ะ ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 2 ช่วยราชการครบกำหนด 6 เดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลให้จำเลยที่ 2 ไปช่วยราชการที่เทศบาลตำบลเกาะสาหร่ายจนเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2558 ระหว่างนั้นวันที่ 22 ธันวาคม 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานไต่สวนทำการไต่สวนข้อเท็จจริงแก่จำเลยที่ 1 วันที่ 7 กรกฎาคม 2558 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งให้องค์คณะไต่สวนดำเนินการไต่สวนจำเลยที่ 2 เพิ่มเติมร่วมกับจำเลยที่ 1 วันที่ 28 ธันวาคม 2558 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนทำการไต่สวนข้อเท็จจริงแก่จำเลยทั้งสอง หลังจากนั้นวันที่ 29 ธันวาคม 2559 คณะอนุกรรมการไต่สวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 1 โดยชอบ จำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์แก้ข้อกล่าวหา วันที่ 7 สิงหาคม 2560 คณะอนุกรรมการไต่สวนมีหนังสือให้จำเลยที่ 2 ไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยส่งไปยังบ้าน เลขที่ 134/15 ซึ่งเคยเป็นภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านและเป็นที่อยู่อาศัยที่จำเลยที่ 2 แจ้งต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขณะทำหนังสือร้องเรียนจำเลยที่ 1 แต่ส่งไม่ได้ ได้รับแจ้งว่าไม่มีผู้รับ พนักงานไต่สวนสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดภูเก็ตซึ่งขณะนั้นไปช่วยราชการจังหวัดสตูล ตรวจสอบแล้วปรากฏว่า บ้านเลขที่ดังกล่าวเป็นบ้านที่จำเลยที่ 2 เช่าอยู่อาศัย เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 เจ้าของบ้านเลขที่ดังกล่าวแจ้งต่อสำนักงานทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองสตูลให้จำหน่ายชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากทะเบียนบ้าน สำนักงานทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองสตูลจำหน่ายชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากทะเบียนเลขที่ดังกล่าวแล้วเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านเลขที่ 41/1 ซึ่งเป็นทะเบียนบ้านกลางของสำนักงานทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองสตูล วันที่ 16 สิงหาคม 2560 คณะอนุกรรมการไต่สวนส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาไปให้จำเลยที่ 2 ทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับที่บ้านเลขที่ 41/1 ได้รับแจ้งว่าไม่มีผู้รับตามจ่าหน้า วันที่ 17 และ 24 สิงหาคม 2560 คณะอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการให้มีการปิดประกาศหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 2 ที่สำนักงาน ป.ป.ช. และที่บ้านเลขที่ 41/1 จำเลยที่ 2 ไม่มาแก้ข้อกล่าวหา ต่อมาวันที่ 30 มีนาคม 2561 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองมีมูลความผิดทางอาญา คดีสำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์โต้แย้งเป็นอย่างอื่น จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริง พ.ศ. 2555 ข้อ 37 และ 38 ที่ใช้อยู่ขณะเกิดเหตุ กำหนดวิธีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหาไว้หลายวิธี โดยข้อ 37 วรรคหนึ่งกำหนดว่า "เมื่อองค์คณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่า จากทางไต่สวนข้อเท็จจริงมีพยานหลักฐานพอที่จะสนับสนุนข้อกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการอันมีมูลความผิด ให้คณะอนุกรรมการไต่สวนมีหนังสือเรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบและแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ..." วรรคสองกำหนดว่า "ในการแจ้งข้อกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง ให้คณะอนุกรรมการไต่สวนจัดทำเป็นบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาระบุการกระทำและพฤติการณ์ทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียด... ที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจข้อกล่าวหาได้ดี... โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อรับทราบการแจ้งข้อกล่าวหาไว้เป็นหลักฐานด้วย" ข้อ 38 วรรคหนึ่งกำหนดว่า "ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มารับทราบข้อกล่าวหาตามกำหนดนัดหรือปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับหนังสือตามข้อ 37 ให้คณะอนุกรรมการไต่สวนส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาไปให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ ที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการหรือตามหลักฐานที่ปรากฏจากการไต่สวนข้อเท็จจริง..." วรรคสองกำหนดว่า "ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มารับทราบข้อกล่าวหาหรือไม่ได้รับหนังสือแจ้งให้รับมารับทราบข้อกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง ให้มีการปิดประกาศหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาไว้โดยเปิดเผยยังที่ทำการสำนักงาน ป.ป.ช. และภูมิลำเนาของผู้ถูกกล่าวหา..." ลักษณะการแจ้งข้อกล่าวหาตามระเบียบดังกล่าวพอจำแนกตามวัตถุประสงค์ได้เป็น 2 ลักษณะ กล่าวคือ การมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาตามข้อ 37 วรรคหนึ่ง ซึ่งปกติต้องส่งไปยังภูมิลำเนาของผู้ถูกกล่าวหา การส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามข้อ 38 วรรคหนึ่งและการปิดประกาศหนังสือส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาตามข้อ 38 วรรคสองนั้น มุ่งให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาเพื่อประโยชน์ในการชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา โดยให้แจ้งไปยังภูมิลำเนาและที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการหรือตามหลักฐานที่ปรากฏจากการไต่สวน ซึ่งเป็นสถานที่อยู่สำคัญที่ผู้ถูกกล่าวหาน่าจะได้รับหนังสือแจ้งให้มารับทราบข้อกล่าวหา ส่วนการแจ้งข้อกล่าวหาด้วยการปิดประกาศหนังสือส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหายังที่ทำการสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นวิธีการที่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การไต่สวนให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ กรณีที่ไม่อาจแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้ด้วยวิธีอื่น คดีนี้มีการแจ้งข้อกล่าวหาครบทั้งสองลักษณะ สำหรับการแจ้งข้อกล่าวหาด้วยการมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาตามข้อ 37 วรรคหนึ่ง การส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามข้อ 38 วรรคหนึ่ง และการปิดประกาศหนังสือส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาตามข้อ 38 วรรคสองนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะจำเลยที่ 2 ไปดำรงตำแหน่งที่เทศบาลตำบลผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 เช่าบ้านเลขที่ 134/15 เป็นที่อยู่อาศัยและย้ายชื่อตนเข้าทะเบียนบ้านเลขที่ดังกล่าว ครั้นต่อมาเมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่เทศบาลตำบลเกาะสาหร่าย จำเลยที่ 2 ก็มิได้แจ้งย้ายชื่อจากทะเบียนบ้านเลขที่ดังกล่าวไปยังตำบลดังกล่าวเช่นที่เคยปฏิบัติมา ทั้ง ๆ ที่การแจ้งย้ายชื่อน่าจะเป็นการสะดวกแก่การติดต่อกับทางราชการและผู้อื่น คงปล่อยให้ชื่อของตนอยู่ในบ้านเลขที่ดังกล่าวติดต่อกันมาเป็นเวลานานประมาณ 7 ปี จนกระทั่งวันที่ 2 สิงหาคม 2560 ก่อนที่คณะอนุกรรมการไต่สวนจะมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 2 เพียง 5 วัน จึงมีการแจ้งให้สำนักงานทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองสตูลจำหน่ายชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากทะเบียนบ้าน พฤติการณ์เช่นนี้ส่อพิรุธให้เชื่อว่า จำเลยที่ 2 จงใจปกปิดภูมิลำเนาของตนเพื่อหลบเลี่ยงมิให้คณะอนุกรรมการไต่สวนสามารถติดตามดำเนินคดีแก่ตนได้ ส่วนที่เจ้าของบ้านเลขที่ดังกล่าวเป็นผู้แจ้งให้สำนักงานทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองสตูลจำหน่ายชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากทะเบียนบ้านนั้น แม้จะยังฟังได้ไม่ถนัดว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ แต่เมื่อมีการจำหน่ายชื่อตนออกจากทะเบียนบ้านเลขที่ดังกล่าวแล้วไปเพิ่มในทะเบียนบ้านของสำนักงานทะเบียนท้องถิ่นย่อมทำให้ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้คณะอนุกรรมการไต่สวนสามารถมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา ส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือปิดประกาศหนังสือส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 2 ได้ กรณีจึงถือได้ว่าการแจ้งข้อกล่าวหาด้วยวิธีอื่นไม่อาจกระทำได้ ต้องนำการแจ้งข้อกล่าวหาด้วยวิธีปิดประกาศหนังสือส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหายังที่ทำการสำนักงาน ป.ป.ช. ตามข้อ 38 วรรคสอง มาใช้บังคับ เมื่อการปิดประกาศดังกล่าวกระทำโดยชอบ การสอบสวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนจึงเป็นไปโดยชอบ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ในส่วนของจำเลยที่ 2 และให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 2 ใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์