โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 83 และให้จำเลยทั้งสามคืนเงิน 685,262 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก 353 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานยักยอกเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน กับให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 681,046 บาท แก่สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต บ. ลำดับที่ 1 ถึง 202 ตามบัญชีสมาชิกท้ายคำฟ้อง ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 5 ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมาย รับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต บ. จัดตั้งขึ้นตามระเบียบกรมการพัฒนาชุมชน ว่าด้วยการส่งเสริมการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต พ.ศ. 2555 เป็นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่ประชาชนรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นเพื่อเก็บออมเงินสะสมรวมกันโดยมีการบริหารจัดการกันเอง และดำเนินการตามแนวทางที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด มีคณะกรรมการบริหารที่ได้รับการคัดเลือกโดยมติที่ประชุมสมาชิก ประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการ มีหน้าที่กำหนดระเบียบข้อบังคับ ทำบัญชีรายรับรายจ่าย และทะเบียนเอกสารต่าง ๆ และบริหารงานทั่วไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิก คณะกรรมการเงินกู้ มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาเงินกู้ให้กับสมาชิก คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานและกิจการของกลุ่ม และคณะกรรมการส่งเสริม มีหน้าที่ส่งเสริมและสร้างเสริมความเข้าใจในหลักการของกลุ่มออมทรัพย์ ขณะเกิดเหตุกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต บ. มีจำเลยทั้งสามกับนางธมลวรรณ นางนงคราญ นายบดินทร์ นายสมโพธิ์ นางพวงมาลา และนายวิเชียรเป็นคณะกรรมการ โดยจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการ มีหน้าที่ลงบันทึกในสมุดบันทึกการออม และรับเรื่องการแจ้งเข้าของสมาชิกเพิ่มและลาออก อนุมัติเงินกู้ และมีหน้าที่ถอนเงินจากธนาคารนำมาจ่ายให้แก่สมาชิกที่กู้ยืมและลาออก จำเลยที่ 2 มีหน้าที่เก็บดอกเบี้ยเงินกู้ และเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยจากสมาชิกที่กู้ยืมเงินของกลุ่มสมาชิก และลงบันทึกในสมุดเงินกู้และดอกเบี้ยเงินกู้ และจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ลงบันทึกสมุดออมสะสมของสมาชิกในเวลาที่สมาชิกนำเงินสดไปออม เมื่อรับเงินออมจากสมาชิกแล้วจะนำไปฝากที่ธนาคาร โดยจำเลยทั้งหมด 2 ใน 3 เป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในการเบิกถอนเงินจากธนาคารดังกล่าว ต่อมาปรากฏว่ากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต บ. มีเงินไม่เพียงพอให้สมาชิกกู้ยืม เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต บ. ที่เหลืออยู่ทำหนังสือมอบอำนาจและแนบบัญชีรายชื่อสมาชิกพร้อมลงลายมือชื่อให้นางธมลวรรณดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 นางธมลวรรณไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรป่าแดด กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามยักยอกเงินของสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต บ.
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า นางธมลวรรณมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต บ. จัดตั้งขึ้นตามแนวทางที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด โดยมีคณะกรรมการที่ได้รับการคัดเลือกโดยมติที่ประชุมสมาชิก ได้แก่ จำเลยทั้งสาม นางธมลวรรณ นางนงคราญ นายบดินทร์ นายสมโพธิ์ นางพวงมาลา และนายวิเชียร เงินฝากที่สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฝากมาเพื่อให้สมาชิกกู้ยืมถือเป็นกิจการของกลุ่มออมทรัพย์ และคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในเงินส่วนนี้ การที่คณะกรรมการเลือกให้จำเลยทั้งสามเป็นตัวแทนดูแลเงินฝากของสมาชิก ก็มีวัตถุประสงค์ให้จำเลยทั้งสามเป็นตัวแทนของคณะกรรมการในการเก็บรักษาเงิน เมื่อเงินที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสามหายไป คณะกรรมการย่อมเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทุจริตเงินดังกล่าว และมีอำนาจทำหนังสือมอบอำนาจแต่งตั้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นตัวแทนร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้ นางธมลวรรณผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการจึงมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม นอกจากนี้ยังได้ความว่า นางธมลวรรณเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ที่นำฝากเงินกับกลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าวด้วยคนหนึ่ง เมื่อมีผู้ยักยอกเงินที่นำฝากไป นางธมลวรรณย่อมได้รับความเสียหาย นางธมลวรรณจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากสมาชิกอื่นหรือจากคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ การที่คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์มอบอำนาจให้นางธมลวรรณไปร้องทุกข์ถือได้ว่านางธมลวรรณร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย การแจ้งความร้องทุกข์ของนางธมลวรรณจึงเป็นไปโดยชอบ และไม่จำต้องให้สมาชิกทุกคนร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า การแจ้งความร้องทุกข์ของนางธมลวรรณเป็นไปโดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนหรือดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดคดีนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น เนื่องจากคดีนี้โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง ทำให้พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี