ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การครอบครองที่ดินพิพาท, การบอกเลิกสัญญาเช่านา, และอำนาจฟ้องของมิสซัง
จำเลยทั้งสี่เช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์และอ้างว่าได้ยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์กับแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยทั้งสี่แล้ว จำเลยทั้งสี่จะต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 แต่ตามคำให้การไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้แสดงเจตนาดังกล่าวให้โจทก์ทราบ จำเลยทั้งสี่จึงไม่อาจอ้างเหตุแห่งการครอบครองเกิน 1 ปี มายันโจทก์ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องการแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นข้อที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การเป็นประเด็นไว้มาด้วยก็เป็นการไม่ชอบ ถือได้ว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นฎีกาไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พ.ร.บ. ว่าด้วยลักษณะ ฐานะ ของวัดบาดหลวงโรมันคาธอลิกในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ. 128 ข้อ 5 บัญญัติว่า มิสซังจะร้องว่าเป็นเจ้าของที่ดินได้แต่ในชื่อของมิสซังเองนั้น มิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการห้ามโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้เช่าที่ดินของโจทก์ หรือบุคคลที่มิได้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินในหนังสือสำหรับที่ดินหรือโฉนดที่ดินในเรื่องที่เกี่ยวกับที่ดินนั้น แม้ที่ดินพิพาทจะมีชื่อ ว. เป็นผู้ครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่เมื่อที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ย่อมฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสี่ได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีว่า หนังสือมอบอำนาจช่วงของโจทก์ติดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์มาเบิกความรับรองต้นฉบับและส่งสำเนาเป็นพยานหลักฐานแทนโดยรับต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงคืนไป จำเลยทั้งสี่ก็ไม่ได้ถามค้านหรือโต้แย้งคัดค้าน จึงยังไม่ได้ความว่าต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงของโจทก์ติดอากรแสตมป์ไว้เป็นจำนวนเงินเท่าใด จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจช่วงของโจทก์ติดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ตามกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คู่ความพิพาทกันในเรื่องสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาทซึ่งมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาทส่วนหนึ่ง และเรื่องขับไล่เพราะผิดสัญญาเช่าซึ่งเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้อีกส่วนหนึ่ง แต่ละส่วนแยกจากกันได้ สิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องแยกพิจารณาตามส่วนดังกล่าว จำเลยทั้งสี่โต้แย้งข้อเท็จจริงว่าการเช่าที่ดินพิพาทเป็นการเช่านาเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า การบอกเลิกการเช่าของโจทก์ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 34 และโต้แย้งค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกินปีละ 500 บาท ซึ่งเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ข้อโต้แย้งดังกล่าวอยู่ในส่วนคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ และเป็นคดีที่โจทก์ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสี่ออกจากที่ดินพิพาทอันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง
จำเลยทั้งสี่ฎีกาคำสั่ง โดยขอให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่ชำระเพิ่มเติมมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่าได้เปลี่ยนลักษณะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ประกอบกับฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้ออื่นไม่มีปัญหาโต้แย้งเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาท ศาลฎีกาจึงคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่ชำระเพิ่มเติมมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ให้จำเลยทั้งสี่ กรณีเป็นไปตามคำขอของจำเลยทั้งสี่แล้ว จึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาคำสั่งของจำเลยทั้งสี่ต่อไป