เดิมโจทก์เป็นนายช่างโทรเลขในกรมรถไฟหลวงได้ถูกจับเมื่อคราวเกิดการขบถโดยถูกหาว่าเกี่ยวข้องกับการขบถตามทางไต่สวนเห็นว่าคดีไม่มีมูลในทางอาชญาจึงสั่งปล่อยโจทก์ ภายหลังอัยยการศาลพิเศษเสนอความเห็นว่าโจทก์ควรได้รับโทษทางธุระการ นายกรัฐมนตรีจึงสั่งกระทรวงเศรษฐการให้ไล่โจทก์ออกจากราชการโดยกล่าวว่าโจทก์มีมลทินมัวหมองเกี่ยวข้องกับการขบถ โจทก์จึงขอให้ศาลแสดงว่าโจทก์ไม่มีความผิดที่ควรจะถูกไล่ออกจากราชการ
ศาลแพ่งเห็นวาการลงโทษข้าราชการพลเรือนเป็นเอกสิทธิของราชการฝ่ายบริหารโดยฉะเพาะจะรื้อฟื้นมาว่ากล่าวทางโรงศาลไม่ได้ แลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องหมายเรียกจำเลยมาให้การ พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์เรียกเอกสารบางฉะบับจากโจทก์มาประกอบการวินิจฉัย แลเห็นว่าคดีต้องวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน แลการกระทำของโจทก์เป็นความผิดชั่วอย่างร้ายแรงตาม ม.๓๘ ข้อ (จ) พิพากษายืนตามศาลเดิม
ศาลฎีกาเห็นว่าศาลยุตติธรรมรับวินิจฉัยคดีชนิดนี้ได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามและวินิจฉัยว่าพฤตติการณ์ที่จำเลยกระทำเนื่องในการปราบขบถทั้งสิ้น และปรากฎว่าจำเลยได้กระทำโดยสุจริตการกระทำของจำเลยจึงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้กระทำการโดยสุจริตตามน่าที่ในการปราบขบถพ.ศ.๒๔๗๖ แลเห็นว่าเมื่อมีพระราชบัญญัติคุ้มครองอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำนอกเหนือ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๔๗๑ หรือไม่ จึงบพิพากษายืนตามศาลล่าง