โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 91, 264, 265, 268 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคหนึ่ง (เดิม), 265 ประกอบมาตรา 83 จำเลยเป็นผู้ร่วมกันปลอมเอกสารราชการ ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 (เดิม), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม), 83 ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมกระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงในคดีมีเพียงว่า ในขณะเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นจับกุม จำเลยแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ของกลางพร้อมทั้งนำเอกสารเกี่ยวกับรถยนต์มามอบให้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบ โดยจำเลยไม่มีอาการพิรุธที่ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้ว่าเอกสารเกี่ยวกับรถยนต์ที่นำมาแสดงเป็นเอกสารราชการปลอม ทั้งจำเลยไม่มีชื่อหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด ดังที่ปรากฏในรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติ จำเลยขอสืบพยานพนักงานคุมประพฤติเพิ่มเติมในประเด็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ และจำเลยให้การรับสารภาพไปโดยผิดหลงเพราะเข้าใจว่าศาลจะรอการลงโทษ หากต่อสู้คดีจะต้องเสียค่าจ้างทนายความ ทำนองว่าจำเลยให้การรับสารภาพโดยไม่สมัครใจและจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง นั้น เห็นว่า คดีนี้เมื่อศาลออกนั่งพิจารณาหลังจากจำเลยมีทนายความแล้ว จำเลยได้ให้การรับสารภาพตามฟ้องต่อหน้าศาล จึงต้องฟังว่าจำเลยให้การรับสารภาพโดยสมัครใจ ทั้งข้อหาตามที่โจทก์ฟ้องมิใช่ข้อหาในความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แม้ว่าพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.2559 มาตรา 31 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานและความเห็นของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 30 โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานประกอบก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานการสืบเสาะและพินิจและความเห็นของพนักงานคุมประพฤติมารับฟังเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นการนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วย นอกจากนี้เมื่อศาลชั้นต้นอ่านรายงานการสืบเสาะและพินิจให้จำเลยฟัง จำเลยก็ขอสละถ้อยคำในเชิงปฏิเสธไปแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวในรายงานการสืบเสาะและพินิจมารับฟังลบล้างคำรับสารภาพของจำเลยในข้อหาตามที่ถูกฟ้องได้ คดีต้องฟังตามคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยได้กระทำความผิดจริงดังที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจะมาฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นว่า จำเลยมิได้ให้การรับสารภาพโดยสมัครใจและจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้องอีกหาได้ไม่ เพราะเป็นข้อเท็จจริงซึ่งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย และเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมและเอกสารรายการจดทะเบียนปลอม โดยนำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมไปติดไว้ที่รถยนต์ และใช้เอกสารรายการจดทะเบียนปลอมแสดงต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เป็นเหตุให้รัฐไม่อาจควบคุมความปลอดภัยของสภาพรถรวมถึงปริมาณของรถที่แท้จริง ทั้งกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการที่จะใช้เอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน และหากนำรถยนต์ไปใช้ในการกระทำความผิดอื่นแล้ว ย่อมยากแก่การที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องจะตรวจสอบและติดตามหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการไม่เคารพกฎหมาย อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยส่วนรวม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และประกอบอาชีพสุจริตมาโดยตลอด หรือมีเหตุอื่นดังที่อ้างในฎีกา ก็ไม่เป็นเหตุที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน