ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในเครื่องหมายการค้า การละเมิด และการประเมินค่าเสียหายที่แท้จริง
บริษัทโจทก์ที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นเจ้าของเครื่องหมาย การค้าคำว่า REYNOLDS ซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2520 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 39 รายการสินค้า เครื่องเขียน เครื่องมือวาดเขียน ปากกาลูกลื่น ปากกาปากอ่อน ปากกาหมึกซึม ไส้ปากกา หมึกบรรจุ ในหลอด ยาลบหมึก น้ำหมึก และที่เสียบปากกา โจทก์ที่ 1 ตกลงให้บริษัทโจทก์ที่ 2 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ตามกฎหมายไทยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปากกาลูกลื่นโดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยโดยไม่มีค่าตอบแทนแต่มีเงื่อนไขว่า โจทก์ที่ 2 จะต้องซื้อปลายปากกาลูกลื่นและหมึกปากกาลูกลื่นจากโจทก์ที่ 1 ตามจำนวนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ การอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ใช้เครื่องหมายการค้าตามสัญญาผู้ใช้ (User Agreement) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2539 ไม่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 68 วรรคสอง จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 โจทก์ที่ 2 จึงมิใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง เรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในข้อหาละเมิดเพราะจำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายสินค้าปากกาลูกลื่นที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนคำว่า REYNOLDS ดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ได้ คงมีเฉพาะโจทก์ที่ 1 เท่านั้นที่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าว
ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือโจทก์ที่ 2 ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้านการตลาดของโจทก์ที่ 2 ในประเทศไทย ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายก็ปรากฏว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ที่ 2 เป็นผู้จ่ายทั้งสิ้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ตามคำฟ้องก็ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องอย่างชัดเจนว่าค่าโฆษณานั้น โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย แต่เพียงผู้เดียว ดังนี้ โจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้รับความเสียหายในการที่ต้องจ่ายค่าโฆษณาและส่งเสริมการขายอันเนื่องมาจากยอดขายสินค้าปากกา REYNOLDS ลดลงเพราะการละเมิดของจำเลยทั้งสอง
แม้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า REYNOLDS สำหรับสินค้าปากกาลูกลื่นที่ได้จดทะเบียนไว้และการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายปากกาลูกลื่น REYNOLDS อันเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 จะเป็นการละเมิดต่อสิทธิ แต่ผู้เดียวของโจทก์ที่ 1 ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 44 ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับความเสียหายว่า โจทก์ต้องจัดการทำการโฆษณาเพื่อแก้ไขภาพพจน์ต่อผู้เคยใช้ปากกาลูกลื่นยี่ห้อ REYNOLDS ปลอมที่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งโจทก์ที่ 2 ต้องเสียค่าโฆษณาไปในช่วงเดือนกรกฎาคม 2540 ถึงปลายปี 2541 เป็นเงินจำนวน 3,916,881.92 บาท รวมความเสียหายที่โจทก์ประเมินไว้เนื่องจากการที่จำเลยทั้งสองนำ ปากกาลูกลื่นที่มีเครื่องหมายการค้า "REYNOLDS" ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของ โจทก์ที่ 1 ออกจำหน่ายในช่วงเวลาดังกล่าวมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 9,000,000 บาท ทั้งนี้ ยังมิได้รวมถึงค่านิยมที่ผู้เคยใช้ปากกาลูกลื่น REYNOLDS ของโจทก์ที่เสื่อมไปเพราะการใช้ของปลอมที่มีคุณภาพต่ำ แต่โจทก์ทั้งสองขอเรียก ค่าเสียหายสำหรับการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 3,300,000 บาท ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่หาได้เรียกค่าเสียหายสำหรับค่านิยมหรือความมีชื่อเสียง ของสินค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ไม่ แสดงว่าโจทก์ที่ 1 มิได้ประสงค์จะเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ จากจำเลยทั้งสอง จึงไม่มีค่าเสียหายในส่วนนี้ที่ศาลจะพิพากษาให้ได้