โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ , ๘๔ , ๓๐๓ กับขอให้นับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๓๑๕๗/๒๕๔๐ ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๒ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๘๖ , ๘๓ ลงโทษจำคุกคนละ ๘ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นทำให้ผู้เสียหายแท้งลูกโดยผู้เสียหายยินยอมตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค ๘ หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๐ เวลาประมาณ ๑๙ นาฬิกา ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ ๑ ข่มขืนกระทำชำเราที่บ้านของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๑ พูดขู่ว่าหากเอาเรื่องไปบอกคนอื่นจะถูกฆ่า ประมาณวันที่ ๑๗ ถึง ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ รอบประจำเดือนของผู้เสียหายไม่มาตามปกติ ผู้เสียหายเข้าใจว่าตั้งครรภ์จึงไปเล่าให้นางปราณี บุตรแขก ญาติผู้เสียหายฟัง เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๐ นางปราณีได้พาผู้เสียหายไปตรวจที่สถานีอนามัยบ้านช่องพลี เจ้าหน้าที่อนามัยยืนยันว่าผู้เสียหายตั้งครรภ์ จากนั้นนางปราณีได้แจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าจำเลยที่ ๑ ยอมรับว่าจะอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้เสียหาย โดยทำให้ถูกต้องตามประเพณีของศาสนาอิสลาม แต่จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นมารดาของจำเลยที่ ๑ ไม่ยินยอม ครั้นวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๐ เวลาประมาณ ๖ นาฬิกา จำเลยทั้งสามมาหาผู้เสียหายที่บ้าน โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ บอกว่าจะมารับไปทำพิธีแต่งงานตามประเพณีของศาสนาอิสลาม ผู้เสียหายเชื่อจึงขึ้นรถกระบะไปกับจำเลยทั้งสาม โดยมีจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขับ ระหว่างทางจำเลยที่ ๓ บอกให้ผู้เสียหายไปทำแท้งลูกก่อนเพราะจำเลยที่ ๑ ยังไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบ หลังจากจำเลยที่ ๓ ลงจากรถที่ตลาดเหนือคลองแล้ว จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้พาผู้เสียหายไปบ้านไม้ชั้นเดียวหลังหนึ่งซึ่งผู้เสียหายเข้าใจว่าอยู่ที่จังหวัดตรัง ที่บ้านหลังดังกล่าวมีหญิงคนหนึ่งอายุ ๔๐ ปีเศษ เป็นคนทำแท้งโดยใช้ตะขอใส่เข้าไปในช่องคลอดของผู้เสียหายแล้วเขย่า ๆ โดยมีหญิงวัยรุ่น ๒ คน ช่วยกันจับขาของผู้เสียหายไว้ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที ระหว่างนั้นมีจำเลยที่ ๑ นั่งขวางประตูบ้านไว้ เห็นว่า แม้โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความเพียงปากเดียว แต่ก็เบิกความสมเหตุผล มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ เมื่อพิจารณาประกอบรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ซึ่งระบุว่าผู้เสียหายมีแผลถลอกใหม่ที่บริเวณช่องคลอดทางด้านล่างปากมดลูกเปิด แสดงว่าผู้เสียหายผ่านการทำแท้ง เอกสารดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยแพทย์ประจำโรงพยาบาลกระบี่ผู้ตรวจร่างกายผู้เสียหาย จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มิได้ปฏิเสธความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว เชื่อว่าในวันเกิดเหตุหญิงไม่ทราบชื่อกับพวกอีก ๒ คน ทำให้ผู้เสียหายแท้งลูก ที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ นำสืบอ้างว่าเพียงแต่ร่วมกันพาผู้เสียหายซึ่งมีอาการปวดท้องไปให้แพทย์ที่โรงพยาบาลห้วยยอด จังหวัดตรัง ตรวจร่างกายนั้นขัดต่อเหตุผล เนื่องจากจำเลยที่ ๑ อ้างว่าในวันดังกล่าวจำเลยที่ ๑ จะไปทำงานขับรถไถรับจ้างตามปกติ แต่กลับพาจำเลยที่ ๒ ไปรับผู้เสียหายไปตรวจร่างกาย เป็นพิรุธ พยานจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดในการที่ผู้อื่นทำแท้งผู้เสียหาย จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๒ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๘๖ ซึ่งแม้โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษตามมาตรานี้ดังที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฎีกา ศาลก็ย่อมลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคท้าย เพราะการทำให้หญิงแท้งลูกไม่ว่าหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติเป็นความผิดทั้งนั้น หากแต่กำหนดโทษหนักเบาต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.