โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2539 โจทก์เช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณริมทางรถไฟสถานีแปดริ้วเดิม ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมเนื้อที่ 63,891 ตารางเมตร (39.93 ไร่) เพื่อปลูกสร้างอาคารบริเวณย่านสถานีแปดริ้ว เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2539 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2545 และสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อดำเนินการจัดหาผลประโยชน์บริเวณย่านสถานีแปดริ้ว เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2544 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2547 จำเลยเป็นเจ้าของอาคารเลขที่ 44, 56 ถนนชุมพล ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมเนื้อที่ 160 ตารางเมตร ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่โจทก์เช่าบางส่วนโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย โจทก์ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวจึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไป แต่จำเลยเพิกเฉย การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อดำเนินการจัดหาประโยชน์ได้ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารเลขที่ 44, 56 ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ตามแผนที่สังเขปท้ายคำฟ้อง และส่งมอบที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารดังกล่าวให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์รื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารของจำเลยออกไปโดยค่าใช้จ่ายของจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายวันละ 3,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนอาคารและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปให้เสร็จสิ้น ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวของกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป
โจทก์ยื่นคำร้องมาพร้อมกับคำฟ้องขอให้เรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การว่า นับแต่โจทก์ทำสัญญาเช่าจากการรถไฟแห่งประเทศไทย โจทก์ไม่เคยใช้สอยหรือเข้าครอบครองในที่ดินที่เช่า จำเลยไม่ได้ครอบครองที่ดินและร้านค้าพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า จำเลยไม่มีสิทธิตามกฎหมายอย่างไรและโจทก์มีสิทธิอย่างไรอีก ทั้งระบุบ้านเลขที่สับสน ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม จำเลยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ร่วมอาศัยอยู่ตลอดมา จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาจากโจทก์ร่วม จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิบอกกล่าวบังคับให้จำเลยรื้อถอนอาคารและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและจำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวจากโจทก์ ทั้งโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่ดินแปลงอื่นและบ้านหลังอื่นมิใช่ที่ดินและบ้านเลขที่ตามที่โจทก์ฟ้องจึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายวันละ 3,200 บาท ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกินเดือนละ 32.58 บาท เนื่องจากจำเลยเช่าที่ดินจากโจทก์ร่วมเพียงปีละ 391 บาท เนื้อที่ 39.10 ตารางเมตร มิใช่เนื้อที่ 160 ตารางเมตร และฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดและเรียกค่าเสียหาย แต่โจทก์ทราบดีว่าจำเลยอยู่ในที่ดินและอาคารพิพาทมาเกินกว่าหนึ่งปีแล้วนับแต่วันที่โจทก์อ้างว่าได้ทำสัญญาเช่ากับโจทก์ร่วม ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ร่วมยื่นคำแถลงว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและให้โจทก์เช่าเพื่อพัฒนาโครงการจัดประโยชน์ในที่ดิน แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าดำเนินการได้เนื่องจากจำเลยอยู่อาศัยในที่เช่า
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างในช่องที่ระบายสีฟ้าตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.5 และส่งมอบที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารในแผนที่ดังกล่าวให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยและให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจกท์เดือนละ 4,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปให้เสร็จสิ้น และห้ามจำเลยพร้อมบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินอีกต่อไป กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์และโจทก์ร่วมโดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา นายเทียนชัยทายาทของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ฟ้องและขอให้เรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมโดยบรรยายฟ้องว่า โจทก์เช่าที่ดินจากโจทก์ร่วม แต่โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่โจทก์เช่าจากโจทก์ร่วมได้ เนื่องจากมีอาคารเลขที่ 44, 56 ของจำเลยปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนอาคารและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทพร้อมทั้งรื้อถอนอาคารที่ปลูกอยู่และส่งมอบที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย กับให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้วว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วม ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาก็คือจำเลยไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไป และไม่ยอมรื้อถอนอาคารของจำเลยซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่โจทก์เช่าจากโจทก์ร่วมโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมายอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ส่วนคำขอบังคับก็คือให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทพร้อมทั้งรื้อถอนอาคารและส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ รวมทั้งใช้ค่าเสียหาย ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว โจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายว่า โจทก์ร่วมบอกเลิกการเช่าแก่จำเลยหรือไม่อย่างไร และจำเลยไม่มีสิทธิตามกฎหมายอย่างไร เพราะเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ทั้งจำเลยก็ให้การต่อสู้ว่า จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิแห่งสัญญาเช่าที่จำเลยทำกับโจทก์ร่วม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยเข้าใจฟ้องโจทก์และสามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า อุทธรณ์ของจำเลยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง หรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้รื้อถอนอาคารออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ตามคำฟ้องของโจทก์แม้จะขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายวันละ 3,200 บาท หรือเดือนละ 96,000 บาท ซึ่งเท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้เดือนละ 96,000 บาทก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 4,000 บาท และโจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงถือได้ว่าที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท กรณีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อเท็จจริงจึงชอบแล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า การบอกเลิกการเช่าของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 566 เนื่องจากโจทก์มิได้มีหนังสือบอกเลิกการเช่าแก่จำเลยและโจทก์ร่วมมีหนังสือบอกเลิกการเช่าระบุให้จำเลยออกจากบ้านเลขที่ 42 ซึ่งเป็นของบุคคลอื่นครอบครองอยู่ จำเลยไม่ได้ครอบครองบ้านเลขที่ดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้สูงเกินไปนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงและต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้รับวินิจฉัยเพราะเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามดังกล่าวแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงก็ไม่มีผลทำให้ฎีกาของจำเลยกลับกลายเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้อยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ หากถือว่าจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นการอยู่โดยไม่มีสิทธิก็เป็นการละเมิดต่อโจทก์ร่วมมิใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งยังมิได้รับมอบการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่เช่าจากโจทก์ร่วม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยนั้น เห็นว่า ในข้อนี้เป็นข้อกฎหมายซึ่งจำเลยอุทธรณ์มาด้วย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัยและเพื่อไม่ให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยอีก ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวจ ซึ่งศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า สัญญาเช่าที่ดินพิพาทที่จำเลยทำกับโจทก์ร่วมได้ระงับไปแล้ว ดังนั้นการที่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไปอีกจึงเป็นการอยู่โดยไม่มีสิทธิ แม้การอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ร่วมผู้ให้เช่า มิได้เป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินรวมทั้งที่ดินพิพาทจากโจทก์ร่วมก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ร่วมมิได้ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทก็ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามสิทธิที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าไม่ได้เนื่องจากมีจำเลยเป็นผู้รอนสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายโดยขอให้ศาลเรียกโจทก์ร่วมผู้ให้เช่าเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 แม้โจทก์ระบุข้อหาหรือฐานความผิดในคำฟ้องคลาดเคลื่อนไปว่าเป็นละเมิดและสรุปการกระทำของจำเลยตามที่บรรยายมาในคำฟ้องว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ยกเอากฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงตามความเข้าใจของโจทก์ แต่ในการวินิจฉัยคดีศาลย่อมมีอำนาจปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องให้จำเลยรับผิดตรงตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้บอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินแก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่อาจอ้างถึงมูลอันชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากที่ดินพิพาทอีกต่อไป อำนาจฟ้องของโจทก์ย่อมหมดไปนั้น เห็นว่า ในการวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ต้องพิจารณาถึงสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ในขณะที่ยื่นคำฟ้องเป็นสำคัญ ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นดังที่จำเลยอ้างก็ไม่มีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องของโจทก์ที่มีอยู่ครบถ้วนบริบูรณ์แล้วในขณะฟ้องให้หมดสิ้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ