โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 21, 40, 42, 47 ทวิ, 66 ทวิ, 80 ให้จำเลยทั้งสาม คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารออกไปจากที่ดินที่บุกรุก และปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวัน นับแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2555 จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ถูกต้อง
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสอง วรรคสาม (ที่ถูก มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 40 (2) (3), 42, 66 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ (ที่ถูก ฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน) จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปีและปรับคนละ 10,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 6 เดือน และปรับ 80,000 บาท กับปรับอีกวันละ 1,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2555 จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 9 เดือน และปรับ 45,000 บาท กับปรับจำเลยที่ 1 อีกวันละ 1,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2555 จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 เดือน และปรับคนละ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสาม คนงาน คนรับจ้าง ผู้แทนและบริวารออกไปจากที่ดินที่บุกรุก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวัน วันละ 600 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับวันละ 300 บาท นับแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2555 ไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ถูกต้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้รับทราบคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคารที่ปลูกสร้างเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 จำเลยที่ 1 จึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้เสร็จภายใน 30 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 4 สิงหาคม 2555 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เมื่อนับถึงวันที่ 30ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน 5 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (4) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำคุกและปรับจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3