โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288, 295, 297
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297, 80 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำเลยกระทำผิด 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย จำเลยกระทำผิด 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 6 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ประกอบด้วยมาตรา 72 กรรมหนึ่ง ให้จำคุก 1 ปี และมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 72 รวม 2 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวมเป็นจำคุก 1 ปี 8 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 13 เดือน 10 วัน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีทั้งจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน เป็นเวลา 1 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังยุติได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ผู้เสียหายทั้งสี่กับจำเลยต่างไม่รู้จักกันมาก่อน ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหายทั้งสี่ต่างพูดจาโต้เถียงกับจำเลย ซึ่งมิได้แต่งเครื่องแบบตำรวจในเรื่องที่ยืนขวางทางกันแล้วต่างแยกย้ายกันไป ต่อมาประมาณครึ่งชั่วโมงกลุ่มของผู้เสียหายทั้งสี่ได้กลับมาที่เกิดเหตุและพบจำเลยอีก ผู้เสียหายที่ 4 เดินเข้าไปหาจำเลยแล้วกระโดดถีบจำเลยถูกที่หน้าอก เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 4 เสียหลักล้มลงและร้องตะโกนว่า จำเลยมีปืนแล้วลุกขึ้นวิ่งหนี ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 จึงวิ่งหนีตาม จำเลยได้ใช้อาวุธปืนพกของทางราชการยิงหลายนัด กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 3 บริเวณด้านหลังต้นขาขวาได้รับอันตรายสาหัส หลังเกิดเหตุดังกล่าวแล้ว จำเลยใช้อาวุธปืนตีผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 4 ได้รับอันตรายแก่กาย สำหรับข้อหาพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่ ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยไม่เจตนาฆ่า มีเจตนาเพียงทำร้าย และยกฟ้องข้อหาพยายามฆ่า โจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์ ข้อหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสี่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังเป็นยุติว่า ผู้เสียหายที่ 4 เป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อนโดยกระโดดถีบหน้าอกจำเลยก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายที่ 4 เห็นจำเลยชักปืนพกออกมาจึงร้องบอกให้ผู้เสียหายอื่นทราบ แล้วผู้เสียหายทั้งสี่ต่างก็วิ่งหนีเช่นนี้ ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่มีต่อจำเลยจึงไม่มีต่อไปแล้ว การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสี่หลายนัดและกระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 3 ที่ด้านหลังของต้นขาขวาทำให้ผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัสแต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหายอื่น อันแสดงให้เห็นว่า เป็นการยิงในขณะผู้เสียหายทั้งสี่หันหลังให้จำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงหาเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีความเห็นไม่ แต่เห็นได้ว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ เพราะผู้เสียหายทั้งสี่อยู่ในวัยรุ่นอายุน้อยกว่าจำเลยไม่น้อยกว่า 20 ปีและจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจด้วย แม้ผู้เสียหายทั้งสี่จะไม่รู้ก็ตาม ทั้งเหตุแต่แรกก็เป็นสาเหตุเล็กน้อยเพียงแต่โต้เถียงกันเรื่องขวางทางเดินเท่านั้น การที่ผู้เสียหายทั้งสี่กลับมาพบจำเลยในที่เกิดเหตุอีก แล้วผู้เสียหายที่ 4 กระโดดถีบหน้าอกจำเลยเช่นนี้ ย่อมทำให้จำเลยโกรธ เพราะถือว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ มีลักษณะเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและจำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสี่ทันทีในขณะผู้เสียหายทั้งสี่วิ่งหนี จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลล่างฟังมาฟังได้ว่า ในขณะที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงนั้น ผู้เสียหายที่ 3 อยู่ห่างจำเลยเพียง 2 ถึง 3 เมตร ส่วนผู้เสียหายอื่นก็อยู่ห่างจำเลยเพียง 5 ถึง 6 เมตร เท่านั้น จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีความชำนาญในการใช้อาวุธปืนมากกว่าบุคคลทั่วไป และได้ยิงถึง 6 นัด แต่กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 3 เพียงคนเดียวและถูกที่ด้านหลังของต้นขาขวา ซึ่งเป็นอวัยวะที่ไม่สำคัญอันไม่สามารถทำให้ถึงตายได้ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยมีเจตนาเพียงทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่เท่านั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัสจากการถูกยิง ส่วนที่ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่ได้รับอันตรายใด ๆ จำเลยจึงมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 72 และพยายามทำร้ายผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 80 และ 72 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นความผิด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาในส่วนนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในส่วนนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า เหตุการณ์ในตอนหลังเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจอื่นจับกุมผู้เสียหายทั้งสี่แล้ว การที่จำเลยใช้อาวุธปืนตีผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสและผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 ได้รับอันตรายแก่กายเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีความเห็นและลงโทษจำเลยหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าการกระทำผิดของจำเลยดังกล่าวไม่ใช่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สิบตำรวจตรีฤทธิ์เดช พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้จับกุมผู้เสียหายทั้งสี่แล้วนำมาที่ท้ายกระบะรถของเจ้าพนักงานตำรวจแล้วสั่งให้ผู้เสียหายทั้งสี่หมอบที่ท้ายกระบะรถนั้น จำเลยได้เข้ามาพูดคุยกับผู้เสียหายทั้งสี่และสิบตำรวจตรีฤทธิ์เดชได้ยินเสียงผู้เสียหายทั้งสี่พูดว่า มึงระวังตัวให้ดี กูจะเอาคืน จำเลยจึงบอกให้หมอบแต่ผู้เสียหายทั้งสี่ไม่ยอมหมอบ นอกจากนั้นยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พวกผู้เสียหายทุกคนจะเอาเรื่องจำเลย จึงเห็นได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์แรกและจำเลยได้ทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 หลังจากมีการสั่งให้ผู้เสียหายทั้งสี่หมอบกับพื้นรถยนต์แต่ผู้เสียหายทั้งสี่ไม่ยอมหมอบทั้งยังพูดจาอาฆาตจำเลย จำเลยจึงทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากผู้เสียหายที่ 4 กระโดดถีบจำเลย ทั้งเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมดังวินิจฉัยมาข้างต้น การกระทำในตอนหลังนี้ถึงจะขาดตอนจากการกระทำความผิดตอนแรก แต่เห็นได้ว่าเป็นเวลาต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า การกระทำผิดของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะและพิพากษาลงโทษจำเลยมาโดยรอการลงโทษและคุมความประพฤติของจำเลยด้วยนั้น จึงเหมาะสมกับพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งคดีแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นและการกระทำความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสโดยบันดาลโทสะกับความผิดฐานพยายามทำร้ายผู้อื่นโดยบันดาลโทสะซึ่งเป็นการกระทำในตอนแรกนั้น เกิดขึ้นสืบเนื่องจากผู้เสียหายที่ 4 กระโดดถีบจำเลยก่อน ซึ่งเป็นเหตุเกี่ยวกันกับการกระทำความผิดในตอนหลังนี้ จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษและคุมความประพฤติของจำเลยไว้เช่นเดียวกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) และมาตรา 295 ประกอบมาตรา 80 และ 72 อีกกรรมหนึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 72 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กายตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษ รวมเป็นจำคุก 2 ปี 8 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 21 เดือน 10 วัน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี นับตั้งแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2