โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 72 ตรี, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบรถแทรกเตอร์ของกลาง และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากที่เกิดเหตุ
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยกลับให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดฐานยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 35,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 17,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน ต่อครั้ง ภายในเวลา 1 ปี ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 15 ชั่วโมง และละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำผิดในทำนองเดียวกันอีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบรถแทรกเตอร์ของกลาง และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากที่เกิดเหตุ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (3) เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 1 ปี ไม่รอการลงโทษ ไม่คุมความประพฤติ และไม่ปรับจำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยกระทำการไปในทางการที่รับจ้าง มิใช่กระทำการเป็นของตนเอง จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าถนนที่จำเลยก่นสร้างเป็นของเอกชนไม่อยู่ในเขตป่าไม้หรือป่าสงวนแห่งชาติ สถานที่เกิดเหตุมิได้อยู่ในเขตป่าไม้หรือป่าสงวนแห่งชาติ ไม่มีต้นน้ำลำธาร แต่เป็นท้องที่ที่ทางราชการจัดสรรเป็นที่ทำกินให้แก่ประชาชน การกระทำของจำเลยในการกวาดไถถนนไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ เพราะถนนที่จำเลยใช้รถกวาดไม่มีสภาพลักษณะเป็นป่าไม้ที่มีต้นน้ำลำธารและอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นน้ำลำธารนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจะโต้เถียงในทำนองว่า ไม่มีเจตนากระทำความผิดหรือมีข้อเท็จจริงแตกต่างจากฟ้องหาได้ไม่ เพราะขัดกับคำรับสารภาพของจำเลยทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าปรับบทไม่ถูกต้อง มิได้ประสงค์ให้เปลี่ยนแปลงโทษแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ตีความอุทธรณ์ของโจทก์เอาเองว่าโจทก์ขอเพิ่มเติมโทษด้วยและพิพากษาแก้เป็นไม่รอการลงโทษ ไม่คุมความประพฤติ และไม่ปรับจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ในป่าสงวนแห่งชาติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นน้ำลำธารอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคสอง (3) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปีฯ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง และลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี จึงต่ำกว่าระวางโทษขั้นต่ำ โจทก์จึงไม่เห็นด้วยและขอให้พิพากษาแก้ลงโทษจำคุกจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคสอง (3) จากอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า นอกจากโจทก์อุทธรณ์ขอให้ปรับบทให้ถูกต้อง แล้วยังอุทธรณ์โต้แย้งโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลยและขอให้ลงโทษตามมาตรา 31 วรรคสอง (3) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกขั้นต่ำสูงกว่าโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลย ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวแล้วว่าโจทก์ประสงค์ที่จะให้เพิ่มเติมโทษ ประกอบกับเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาแล้วเห็นว่าศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ก็มีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามที่โจทก์อุทธรณ์ และมีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะเปลี่ยนแปลงโทษที่จะลงแก่จำเลยให้เหมาะสมและเป็นไปตามบทกฎหมายที่ถูกต้องได้ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจเปลี่ยนแปลงโทษจำคุกแก่จำเลย และไม่รอการลงโทษ ไม่คุมความประพฤติและไม่ปรับ จึงเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 แล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุก ปรับ และคุมความประพฤติของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นต้นน้ำลำธาร การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำลายป่าไม้ที่มีคุณค่าและเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ ทั้งยังส่งผลกระทบทำให้ระบบนิเวศและคุณภาพสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดภัยธรรมชาติขึ้นเป็นเนืองๆ นอกจากนี้การที่จำเลยไถดันต้นไม้เปิดเป็นทางสัญจรในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เช่นนี้ ก็มีส่วนช่วยสนับสนุนให้มีการกระทำความผิดในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับจำเลยเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนในท้องถิ่นก็ควรประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดี แต่กลับมากระทำความผิดต่อกฎหมายเสียเอง สมควรที่จะลงโทษโดยเด็ดขาดเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้คนในสังคม ที่จำเลยอ้างว่าให้ความร่วมมือแก่ทางราชการตลอดมาและต้องอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาบุตรผู้เยาว์ ก็เป็นเรื่องที่บุคคลทั่วไป เฉกเช่นจำเลยพึงปฏิบัติอยู่แล้ว ไม่อาจนำมาเป็นเหตุอันควรปรานีที่จะนำมารอการลงโทษจำคุกไว้ เมื่อไม่รอการลงโทษจำคุกจึงไม่อาจคุมความประพฤติของจำเลยได้ และไม่จำต้องปรับอีกสถานหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลย ไม่คุมความประพฤติ และไม่ปรับ นั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
อนึ่ง เนื่องจากได้มีพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559ให้ยกเลิกความในมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
พิพากษายืน